กองกำลัง 'ชาวโรฮิงจะ' ประกาศหยุดยิงเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่

Kifawet Ullah is helped by other newly arrived Rohingya after he collapsed while waiting to have his token validated in order to collect a bag of rice distributed by aid agencies in Kutupalong, Bangladesh, Sept. 9, 2017.

ผู้อพยพชาวโรฮิงจะกำลังเผชิญความเสี่ยงจากกับระเบิดตามเส้นทางอพยพไปยังบังคลาเทศ

Your browser doesn’t support HTML5

กองกำลังชาวโรฮิงจะประกาศหยุดยิง

กลุ่มติดอาวุธ Arakan Rohingya Salvation Army หรือ (ARSA) ของชนกลุ่มน้อยโรฮิงจะ ในเมียนมา เรียกร้องให้มีข้อตกลงหยุดยิงที่มีผลหนึ่งเดือน โดยมีผลตั้งแต่วันอาทิตย์ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้ง

ความขัดแย้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนที่แล้วที่กองทัพ ARSA โจมตีฐานที่ตั้งของตำรวจหลายสิบแห่ง และฐานทัพทหารอีกหนึ่งแห่ง เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดการอพยพของประชาชนกว่า 3 แสนราย

กลุ่ม ARSA ออกแถลงการณ์ในวันเสาร์ กล่าวว่า องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ควรกลับมาสานต่องานในวิกฤตครั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนับถือศาสนาใด หรือมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด ดังนั้นควรมีการหยุดยิงเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับเข้ามาทำงานได้

ในวันอาทิตย์ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน Amnesty International กล่าวหารัฐบาลเมียนมาว่า จงใจทำร้ายไปที่ชาวโรฮิงจะ ด้วยการวางกับระเบิดตามบริเวณใกล้ประเทศบังคลาเทศที่ชาวโรฮิงจะใช้เป็นเส้นทางอพยพออกจากเมียนมา

Amnesty International รายงานว่า เกิดเหตุระเบิดสองครั้งในวันอาทิตย์ ซึ่งทำให้มีชายผู้หนึ่งได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ขา

การประกาศหยุดยิงครั้งนี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ นิกกี้ เฮลี่ย์ เตือนรัฐบาลเมียนมาว่า แม้รัฐบาลวอชิงตันสนับสนุนการปราบปรามความรุนแรงในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ แต่จะต้องมีการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถึงพื้นที่

ทูตนิกกี้ เฮลี่ย์ กล่าวด้วยว่า การให้ความช่วยเหลือจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและคำนึงถึงสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ได้รับด้วย

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ความมุ่งมั่นของกระทรวงในขณะนี้คือ การกลับมาให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสหรัฐฯ มีความกังวลอย่างมากต่อกรณีที่มีรายงานว่าเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิด

เพทริค เมอร์ฟี่ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกกับนักข่าวเมื่อวันศุกร์ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า สหรัฐฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันบรรเทาความขัดแย้ง เขาประเมินว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดความรุนแรงขึ้น มีผู้อพยพเดินทางออกจากพม่าเข้าไปในบังคลาเทศ กว่า 2 แสนคนแล้ว

นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ออกจากถิ่นฐานเดิมในเมียนมาแต่ยังไม่ได้ออกจากประเทศ อีกจำนวนหนึ่งด้วย

รองผู้ช่วยรัฐมนตรีเมอร์ฟี่ กล่าวว่า สหรัฐฯ และเมียนมากำลังพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น

ความรุนแรงระรอกล่าสุดนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เมื่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงจะโจมตีฝ่ายตำรวจและทหารของทางการเมียนมา โดยกล่าวว่าเป็นการทำไปเพื่อปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ของตนจากการกระทำผิดโดยทางการ

การต่อสู้ที่ดำเนินมาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 400 คน และเป็นผลักดันให้เกิดการอพยพของประชาชนข้ามไปที่บังคลาเทศ

วิเวียน ทาน ผู้อำนวยการด้านผู้ลี้ภัยในเอเชียของสหประชาชาติ ประเมินว่าตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม จำนวนผู้ที่ข้ามพรมแดนไปที่เขต Cox’s Bazaar ในบังคลาเทศน่าจะอยู่ที่ 146,000 คน

เจ้าหน้ากล่าวว่าสหประชาชาติได้ส่งอาหารจำนวนหลายพันตันสู่พื้นที่ผู้อพยพในบังคลาเทศ และโครงการ World Food Program ของสหประชาชาติต้องการเงิน 11 ล้าน 3 แสนดอลลาร์ เพื่อดูแลด้านอาหารแกผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ที่ Cox’s Bazaar ระรอกใหม่นี้

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Joshua Fatzick)