ตัวเลขผู้ร่วมเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ 'ไทม์ สแควร์' - วิทยาศาสตร์หรือการตลาด?

People celebrate as confetti falls down after the countdown to midnight in Times Square, Jan. 1, 2018, in New York.

ผู้เชี่ยวชาญชี้การประเมินตัวเลขผู้ร่วมงานสูงเกินจริงเกิดขึ้นทั้งในกิจกรรมการเมืองหรือกีฬา

Your browser doesn’t support HTML5

NYC New Year Countdown Figure

กิจกรรม countdown รับปีใหม่ที่ย่าน Times Square ของนครนิวยอร์ก ซึ่งลูกบอลแก้วหล่นลงมาพร้อมกับการมาถึงของวินาทีแรกแห่งศักราชใหม่ดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันทั่วโลก

และในช่วงหลายปีหลังนี้ ทางการนครนิวยอร์กมักให้ตัวเลขว่ามีคนนับล้านไปร่วมชุมนุมกันที่บริเวณ Times Square ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจกลางนครนิวยอร์กที่มีขนาดเพียงห้าช่วงถนนระหว่างถนน Broadway Avenue กับถนนสาย 7th Avenue เท่านั้น

โดยเมื่อวันศุกร์ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กได้อ้างตัวเลขซ้ำว่า ปีนี้จะมีผู้ไปร่วมกิจกรรมต้อนรับปีใหม่ดังกล่าวถึง 2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าสังเกตก็คือตัวเลขผู้ร่วมฉลองปีใหม่ที่ Times Square ของนครนิวยอร์กนี้ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน คือจากราว 5 แสนคนเมื่อปี 2541 เป็น 2 ล้านคนสำหรับปี 2542

นักวิทยาศาสตร์ด้านการนับจำนวนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลขนี้ อย่างเช่น ศาสตราจารย์ G. Keith Still ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝูงชนของมหาวิทยาลัย Manchester Metropolitan ในอังกฤษ ชี้ว่า โดยทั่วไปแล้วผู้รับผิดชอบมักประเมินตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง 10 ถึง 100 เท่าตัว และว่า จำนวนผู้ไปร่วมฉลองรับปีใหม่ที่นครนิวยอร์กนั้นไม่น่าจะเกิน 1 แสนคน

ส่วนอาจารย์ Charles Seife นักคณิตศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการปั่นตัวเลข ก็บอกว่า ผู้บริหารของเมืองที่รับผิดชอบมักมีผลประโยชน์และส่วนได้ส่วนเสียกับตัวเลขที่มากกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะสำหรับนครนิวยอร์ก เพราะเรื่องนี้จะช่วยสร้างภาพความเป็นศูนย์กลางของจักรวาลในเรื่องกิจกรรมการรับปีใหม่

อาจารย์ Charles Seife ยกตัวอย่างว่า การที่จะมีคนถึง 1 ล้านคนอยู่ในพื้นที่แคบๆ ของ Times Square นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และว่าจากพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีเพียงห้าช่วงถนน หากมีผู้คนยืนเฉลี่ยสามคนต่อหนึ่งตารางเมตร Times Square จะรับคนได้ราว 5 หมื่นคน และหากเพิ่มความหนาแน่นนี้เป็นห้าคนต่อหนึ่งตารางเมตร ก็จะเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุมได้เป็นราว 8 หมื่น 6 พันคน

และอาจมากได้ถึง 1 แสน 2 หมื่นคนในพื้นที่อันจำกัดนี้ หากผู้ไปร่วมงานยอมเบียดเสียดยัดเยียดกันในอัตราเจ็ดคนต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร

ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าเรื่องการให้ตัวเลขผู้ร่วมกิจกรรมเกินความเป็นจริงนั้นเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับการชุมนุมทางการเมืองหรือด้านอื่นก็ตาม เช่น ในช่วงพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อต้นปี 2560 ในการชุมนุมทางศาสนา หรือในการจัดงานฉลองชัยชนะของทีมกีฬาต่างๆ เป็นต้น