นักวิทยาศาสตร์กำลังคิดค้น 'ยาคุมไขมัน' เเก้ปัญหาขนาดเส้นรอบเอวหนาขึ้นตามวัย

  • Jessica Berman

Your browser doesn’t support HTML5

Mid Life Obesity Discovery

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเมื่อคนเราอายุมากขึ้น มักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เเม้ว่าจะรับประทานน้อยลงก็ตาม

Jay Chung นักวิทยาต่อมไร้ท่อกล่าวว่า ปริมาณน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่พิ่มขึ้นระหว่างอายุ 20 ปีถึง 50 ปี อยู่ที่ราว 13 กิโลกรัม

Chung เป็นหัวหน้าการวิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนกับการสูงวัย ที่ศูนย์หัวใจ ปอดและเลือดเเห่งชาติ ที่สถาบันสุขภาพเเห่งชาติสหรัฐฯ ใกล้กับกรุงวอชิงตัน เขากล่าวว่า "คนทั่วไปมักมองว่าการไม่ออกกำลังกาย วิถีชีวิตและการขาดความมุ่งมั่นและวินัยในตัวเอง เป็นปัจจัยที่ทำให้คนวัยกลางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น"

"เเต่ผลการวิจัยของทีมงานพบว่า มีกระบวนการทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่เรียกว่า DNA-PK มีบทบาททำให้คนที่อายุสูงขึ้น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น"

Chung และทีมนักวิจัยพบว่า เอนไซม์ DNA-PK จะทำงานมากขึ้นในคนที่อายุมากขึ้น เขากล่าวว่ากระบวนการนี้เหมือนกับการพยายามเร่งความเร็วของรถยนต์ แต่เท้าข้างหนึ่งเหยียบเบรคเอาไว้

เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายปลดปล่อยไขมันออกมาจากหน้าท้อง และป้องกันไม่ให้ไขมันถูกเผาผลาญโดยเนื้อเยื่ออย่างกล้ามเนื้อโครงร่างหรือกล้ามเนื้อลาย

Chung หัวหน้าทีมนักวิจัยอธิบายว่า เอนไซม์ DNA-PK ที่ทำงานเกินระดับปกติ เป็นสาเหตุให้คนเราสูญเสียโครงสร้างเล็กๆ ในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย (mytochondria) ไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เซลล์ไมโทคอนเดรียทำหน้าที่เหมือนโรงงานผลิตพลังงานของร่างกายเเละเผาผลาญไขมันไปด้วยในขณะเดียวกัน

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism ไปเมื่อเร็วๆ นี้ Chung และทีมนักวิจัยรายงานเกี่ยวกับการทดสอบสารชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ในหนูทดลอง

ในการทดลอง ทีมนักวิจัยให้หนูทดลองอายุมากกินอาหารที่มีไขมันสูง ครึ่งหนึ่งของหนูทดลองได้รับสารควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ในขณะที่หนูทดลองอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับสารดังกล่าว

Chung พบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารควบคุมเอนไซม์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนูทดลองกลุ่มที่ไม่ได้กินสารชนิดนี้

Chung หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่า หนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารควมคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับยาราว 40 เปอร์เซ็นต์และยังไม่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่สอง สามารถวิ่งบนเครื่องวิ่งได้นานกว่าหนูกลุ่มควบคุม

นอกเหนือจากการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเเล้ว Chung กล่าวว่าสารควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ยังมีศักยภาพในการช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและโรคอื่นๆ ที่มักเกิดกับคนที่สูงวัย

เขากล่าวว่าสารควบคุมเอนไซม์นี้ไม่ได้ผลในการช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อเบาหวานในคนอายุน้อยกว่าที่เป็นโรคอ้วนเนื่องมาจากนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่เกิดจากการลดลงของไมโทคอนเดรีย

Chung กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองต่อไปก่อนที่จะสามารถนำสารควบคุมการทำงานของเอนไซม์ DNA-PK ไปทดลองกับคน และคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่ายาตัวนี้จะได้รับรับรองให้ใช้ในงานบำบัดได้จริง

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)