ไมโครซอฟท์ ทุ่ม 70,000 ล้านดอลลาร์ ซื้อบริษัทเกมส์ 'แอคติวิชัน บลิซซาร์ด'

FILE - Gamers play Call of Duty: Black Ops 4 at a community reveal event in Hawthorne, California, May 17, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


บริษัทคอมพิวเตอร์ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ทุ่มเงิน 70,000 ล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการบริษัทเกมรายใหญ่ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด (Activision Blizzard) ผู้สร้างเกม Candy Crush และ Call of Duty อันโด่งดัง เป้าหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในตลาดเกมออนไลน์ และเทคโนโลยีความจริงเสมือน หรือ Virtual Reality (VR)

หากข้อเสนอซื้อกิจการครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ก็อาจกลายเป็นการควบรวมบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากที่บริษัทคอมพิวเตอร์ เดลล์ (Dell) เคยซื้อกิจการของบริษัทจัดเก็บข้อมูล EMC ด้วยวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี ค.ศ. 2016

ทั้งนี้ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด เปิดเผยเมื่อปีที่แล้วว่า กำลังถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาว่ามีการประพฤติมิชอบและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐแคลิฟอร์เนียได้ฟ้องร้องบริษัทเกมแห่งนี้ว่า เป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมแบบ "ชายล้วน" ที่นำไปสู่การก่อกวนรังควานและเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างสตรี

ภายใต้ข้อตกลงนี้ บ็อบบี้ โกทิค ซีอีโอของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด จะยังคงนั่งในตำแหน่งเดิมต่อไป โดยจะมุ่งเน้นที่การขยายตลาดวิดีโอเกมและรักษาจุดแข็งของบริษัทเอาไว้

หลังข่าวการควบรวมกิจการครั้งนี้ ราคาหุ้นของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด พุ่งขึ้นทันที 27% ในช่วงเปิดตลาดวันอังคาร ขณะที่ราคาหุ้นของไมโครซอฟต์ปรับตัวลดลงเกือบ 1%

เมื่อปีที่แล้ว ไมโครซอฟต์เพิ่งลงทุน 7,500 ล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการของเซนิแมกซ์ มีเดีย (ZeniMax Media) เจ้าของบริษัทเบเดสดา ซอฟต์เวิร์คส (Bethesda Softworks) ผู้สร้างวิดีโอเกมชื่อดังอย่างเช่น The Elder Scrolls, Doom และ Fallout ซึ่งไมโครซอฟต์เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นยอดสมัครสมาชิก Xbox Game Pass ของทางบริษัทได้

ข้อตกลงมูลค่าราว 69,000 ล้านดอลลาร์ครั้งนี้จะทำให้ไมโครซอฟท์กลายผู้ผลิตวิดีโอเกมรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกเมื่อพิจารณาด้านรายได้จากทั่วโลก รองจากบริษัทโซนี (Sony) และบริษัทเทนเซนต์ (Tencent) รวมทั้งช่วยสร้างโลกแห่งเทคโนโลยีเพื่อแข่งกับ Metaverse ของบริษัทเมตา (Meta) หรือเฟสบุ๊คเดิม ได้อีกด้วย

  • ที่มา: เอพี