การสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป จะทำให้ลุ่มน้ำโขงจมน้ำในอีก 80 ปี

ผลการศึกษาเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงชี้ว่า ลุ่มน้ำเเห่งนี้มีโอกาสสูงมากที่จะเจอกับวิกฤติทางมนุษยธรรม เนื่องมาจากมีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้กันปริมาณมากเกินไป ซึ่งเป็นเหตุให้พื้นดินเริ่มยุบตัวต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูเทรคท์ ประเทศเนเธอร์เเลนด์ ได้พัฒนาแบบจำลองการวิจัยที่ใช้ติดตามผลกระทบจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ทั่วทั้งลุ่มน้ำโขงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เเละใช้ข้อมูลที่ได้เป็นหลักในการพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

เมื่อรวมเข้ากับข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน โดยสูงขึ้นในราว 3-4 มิลลิเมตรต่อปี ทีมนักวิจัยพบว่าไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมารับมือ พื้นที่ราบลุ่มของลุ่มน้ำโขงบริเวณกว้างจะจมน้ำ

ฟิลิป มินเดอร์ฮาวด์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยยูเทรคท์ ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษากล่าวว่า การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งที่ทำให้ลุ่มน้ำโขงยุบตัว โดยเฉลี่ยที่ประมาณปีละหนึ่งเซ็นติเมตร

Researchers found that unless drastic policy actions are taken, most of the Mekong Delta in Vietnam would disappear underwater by 2100.

ลุ่มน้ำโขงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงหลายสิบปีต่อไปข้างหน้า

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนามทำให้มีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปริมาณน้ำเพียงน้อยนิดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาเป็นการสูบน้ำขึ้นมาใช้ถึงวันละ 2 ล้าน 5 เเสนลิตร

มินเดอร์ฮาวด์อธิบายว่า การสูญเสียน้ำใต้ดินทำให้ความดันชั้นธรณีใต้ดินลดลง ทำให้ลุ่มน้ำโขงยุบตัวต่ำลง เขากล่าวว่า ประชาชนในลุ่มน้ำโขงสามารถพัฒนาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเเหล่งน้ำจืดใต้ดินที่ฟรี เเละใครจะสูบขึ้นมาใช้ก็ได้

เเต่เขากล่าวว่านี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะน้ำใต้ดินจะถูกสูบขึ้นมาใช้มากจนทำให้ดินยุบตัวเร็วขึ้น หรืออาจทำให้แหล่งน้ำจืดใต้ดินหมดไป จนไม่มีน้ำดื่ม และทำการเกษตรกันอีกต่อไป

ขณะที่มีปัจจัยทางธรรมชาติหลายอย่างที่ทำให้ดินยุบตัว การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ เป็นสาเหตุที่เกิดจากคนเพียงสาเหตุเดียวซึ่งสามารถแก้ไขได้

เขาบอกว่าประชาชนในลุ่มน้ำโขงเริ่มปรับตัวรับมือกับปัญหาดินยุบตัว ด้วยการสร้างบ้านเเละถนนให้สูงขึ้น เเต่ผลกระทบต่อการเกษตรกรรมจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เเละจะรุนแรง

Mekong Delta

มาร์ค กอยชอท หัวหน้ากองน้ำแห่งองค์การนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในลุ่มน้ำโขง ของกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวว่า ยังมีการดูดทรายจากเเม่น้ำโขงปีละหลายสิบล้านตัน ทำให้ปัญหาดินยุบตัวรุนแรงขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดมีผลกระทบต่อสภาพสมดุลทางธรรมชาติในการซ่อมเเซมและทดแทนตัวเองของลุ่มน้ำ

เขากล่าวว่า เห็นได้ชัดในตอนนี้ว่าปัจจัยทุกอย่างล้วนนำไปสู่ปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือการยุบตัวของพื้นดินในลุ่มน้ำโขง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาคนี้