รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ได้จัดให้มีการบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดรุนแรงของผู้ป่วยโรคมะเร็ง AIDS และ โรคร้ายอื่นๆ อย่างที่ควร

  • ธัญญาภรณ์ สุนทรวงษ์

Caduceus, Medical sign

มีผู้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลก ที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาราคาถูก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดแบบรุนแรงของพวกเขาได้ องค์การด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch กล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่พยายามทำให้คนในประเทศทราบว่า ความเจ็บปวดจากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคเอดส์ หรืออาการเจ็บป่วยชนิดอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอาการที่สามารถบรรเทาได้

รายงานขององค์การ Human Rights Watch ชี้ว่า บรรดาประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก บางประเทศ มีผู้คนจำนวนมากที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และโรคเอดส์ โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

คุณ Diederik Lohman จากองค์การ Human Rights Watch แห่งนครนิวยอร์ค กล่าวต่อวีโอเอว่า ทางองค์การได้สัมภาษณ์คนจำนวนมากที่บอกว่า ตนเองต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด จนถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยดีเทียว บ้างก็ถึงกับอยากที่จะฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถจะทนกับความเจ็บปวดได้

คุณ Diederik Lohman กล่าวว่า มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ผู้คนไม่ได้เข้ารับการรักษาที่สมควรจะได้

เหตุผลแรกก็คือ มอร์ฟีนซึ่งเป็นตัวยาสำคัญในการใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดแบบสาหัสนั้น มักจะถูกจำกัดการใช้ในหลายๆ ประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะนำมอร์ฟีนมาใช้ในการระงับปวด

เหตุผลที่สอง ก็คือ เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพในหลายๆ ประเทศ ไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีพอในการช่วยให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด

เจ้าหน้าที่ขององค์การ Human Rights Watch ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ในหลายๆ ประเทศนั้น การช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และการบำบัดรักษาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแพทย์ หรือพยาบาล ดังนั้นจึงมีแพทย์จำนวนมากที่ไม่ทราบวิธีการช่วยระงับปวด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดขั้นรุนแรง

รายงานขององค์การ Human Rights Watch นั้นมาจากการสำรวจ 40 ประเทศเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดที่ประเทศนั้นๆ มีใช้อยู่ และยังประเมินถึงยาบรรเทาปวดที่มีใช้อยู่ทั่วโลกด้วย

ในรายงานระบุไว้ว่า ใน 35 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่าของทวีแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และอเมริกากลาง มีผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคเอดส์เพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ที่มียาแก้ปวดชนิดรุนแรงใช้ แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศเพิ่มความพยายามให้มากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอูกานดา โคลัมเบีย และเวียตนาม ที่รัฐบาลร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แม้ว่าประเทศดังกล่าวจะมีทรัพยากรเพียงขีดจำกัด แต่ก็ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งส่วนใหญ่ ล้วนแต่ป่วยในระยะสุดท้ายเมื่อมาถึงมือหมอ ดังนั้นการบำบัดรักษาเท่าที่จะเป็นไปได้ทางเดียวก็คือ การบรรเทาอาการเจ็บปวด