ทำไมวันฮาโลวีนถึงต้องมีตะเกียงฟักทอง “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น”?

A barn owl stands on a jack-o-lantern carved from a pumpkin and used to symbolise Halloween or All Saints' Eve at the Zoom Torino zoo and amusement park in Cumiana, near Turin, northern Italy.

สัญลักษณ์ที่มาพร้อมกับวันฮาโลวีนคือตะเกียงฟักทอง หรือ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น”(jack-o'-lantern) โดยชาวอเมริกันนิยมหาซื้อฟักทองทั้งจากร้านค้าหรือจากสวนฟักทองโดยตรง แล้วนำมาแกะสลักให้มีใบหน้า ทำเป็นตะเกียงตกแต่งบ้านเพิ่มบรรยากาศชวนขนหัวลุกในคืนวันฮาโลวีน ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี

การทำตะเกียงฟักทองสยองขวัญนี้ นอกจากจะต้องมีมีดคมๆ อย่างน้อยหนึ่งเล่มแล้ว ยังต้องทุ่มเวลาเพื่อคว้านเนื้อฟักทองและแกะสลักบนเปลือกฟักทอง การทำ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” จึงถือเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ และผู้ใหญ่ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ขั้นแรกของการทำตะเกียงฟักทองคือตัดขั้วฟักทองไปเก็บไว้ก่อน จากนั้นล้วงมือลงไปในผลฟักทอง คว้านเนื้อฟักทองเปียกๆ ออกมาจนหมด จึงค่อยวาดรูปหน้าผีหรือลวดลายตามต้องการบนเปลือกฟักทอง ก่อนใช้มีดแกะสลักตามลวดลายที่วาด สุดท้ายจึงค่อยใส่เทียนลงไปในผลฟักทอง แล้วนำขั้วฟักทองที่ตัดออกไปตอนต้นมาปิดบนผลฟักทอง ก็จะได้ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” สำหรับประดับบ้านในวันฮาโลวีน

สำหรับที่มาของชื่อ “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” นั้น พจนานุกรมภาษาอังกฤษออนไลน์เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ อธิบายว่า ชาวอังกฤษเริ่มใช้คำนี้ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 โดยมีความหมายว่า “ชายผู้มีตะเกียง” หรือคนเฝ้ายามกะกลางคืน โดยในยุคนั้นชาวอังกฤษมักเรียกคนที่ไม่รู้จักว่า “แจ็ค” ชายปริศนาที่ถือตะเกียงจึงกลายเป็น “แจ็คผู้มีตะเกียง” (Jack with the lantern) หรือ “แจ็คแห่งตะเกียง (Jack of the lantern)

USA, Maryland, Halloween celebration

แล้ว “แจ็คแห่งตะเกียง” มาเกี่ยวข้องกับวันฮาโลวีนได้อย่างไร? เรื่องนี้ ทางเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์และสารานุกรมบริแทนนิกาอธิบายว่า คำว่า “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” มีที่มาจากเรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวไอริชเกี่ยวกับชายผู้หนึ่งชื่อ “สติงกี แจ็ค” (Stingy Jack) หรือ “แจ็คผู้ขี้เหนียว”

ตามเรื่องเล่านี้ สติงกี แจ็ค หลอกเอาเงินจากปีศาจ พอเขาเสียชีวิตไป พระเจ้าไม่ให้เขาขึ้นสวรรค์ ส่วนปีศาจที่ถูกแจ็คหลอกยังโกรธเขาและไม่ยอมให้เขาลงนรกเช่นกัน แจ็คจึงถูกลงโทษให้กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนบนโลกตลอดกาล

ชาวไอริชจึงหาวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกวิญญาณของแจ็คหลอก ด้วยการแกะสลักหัวผักกาดเป็นหน้าผีน่ากลัวเพื่อไล่แจ็ค

ต่อมา เมื่อชาวไอริชอพยพมายังสหรัฐฯ พวกเขานำประเพณีแกะสลักหน้าผีบนพืชผักมาด้วย โดยแกะสลักบนฟักทองแทน เนื่องจากเป็นผักที่พบได้ทั่วไปมากกว่าในสหรัฐฯ

สำหรับเทศกาลฮาโลวีนนั้น เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูร้อนมาแต่โบราณของชาวเคลต์ในยุโรป โดยชาวเคลต์เชื่อว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีนั้นจะกลับมาเยี่ยมบ้าน

สารานุกรมบริแทนนิกาอธิบายว่า ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 8 คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ประกาศให้วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saint’s Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้วันก่อนหน้าวันศักดิ์สิทธิ์ หรือ All Hallows’ Eve ที่ต่อมากร่อนเสียงเป็นคำว่า ฮาโลวีน (Halloween) ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมนั่นเอง

การเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนในปัจจุบัน ยังคงมีการปฏิบัติตามประเพณีเฉลิมฉลองของชาวเคลต์อยู่ เช่น การแกะสลัก “แจ็ค-โอ-แลนเทิร์น” ไปจนถึงการแต่งตัวเพื่อพรางตัวเองจากวิญญาณ หรือแต่งกายเป็นผีเสียเองเพื่อซ่อนตัวจากผีจริงๆ นั่นเอง

Halloween