ย้อนอดีตพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับโอกาสและความท้าทายของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

The U.S. Capitol during a rehearsal for the inauguration ceremony Donald Trump

Your browser doesn’t support HTML5

Inauguration History

พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากจะถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่สงบและราบรื่นที่สืบทอดมายาวนานของสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญของผู้นำคนใหม่ ที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์และทิศทางการทำงานอย่างเป็นทางการครั้งแรก

ผู้ที่จะขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐจะต้องเข้าร่วมในพิธีสาบานตนอย่างเป็นทางการ เพื่อกล่าวยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรักษา ป้องกัน และปกป้อง รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาอย่างสุดความสามารถ

พิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในแต่ละครั้ง จัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งสืบเนื่องมาจากวาระการลงสัตยาบันรับรองบทบัญญัติบทที่ 20 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และใช้วันนี้เป็นวันทำพิธีสาบานตนมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1937

George Washington's Inauguration by Jean Leon Gerome Ferris (courtesy of the Library of Congress)

ไม่ว่าภาวการณ์จะเป็นอย่างไร พิธีการที่เป็นสัญลักษณ์นี้คือจุดเริ่มต้นของภารกิจที่ท้าทายในฐานะผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในทันที

ในปี พ.ศ. 2476 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลำดับที่ 32 แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ขึ้นกล่าวสาบานตนรับตำแหน่งท่ามกลางความท้าทายของสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดของอเมริกา

ในครั้งนั้น ประธานาธิบดีรูสเวลท์ กล่าวถึงความความเชื่อของตัวเองว่า "สิ่งเดียวที่ทุกคนควรจะต้องกลัว ก็คือความกลัวในตัวเอง" ซึ่งเป็นวาทะที่หลายคนยังจดจำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเอาชนะความกลัวในภาวะวิกฤติให้กับชาวอเมริกันในขณะนั้น

ต่อมาใน พ.ศ. 2504 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลำดับที่ 35 นายจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ( John F. Kennedy) กล่าวสร้างแรงบันดาลใจกับชาวอเมริกันรุ่นใหม่ ด้วยประโยคสุดคลาสสิคในตอนนั้นว่า "จงอย่าถามว่าประเทศทำอะไรเพื่อคุณบ้าง แต่จงถามว่าคุณทำอะไรเพื่อประเทศของคุณ"

Kennedy Inauguration

20 ปีต่อมา ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก้าวขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับแนวทางที่จะจำกัดอำนาจของรัฐบาล ผู้นำสหรัฐฯ ลำดับที่ 40 กล่าวว่า "ในสภาวะวิกฤติของสหรัฐฯ ขณะนั้น รัฐบาลนั้นไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่รัฐบาลต่างหากคือปัญหา"

การกล่าวปราศรัยต่อผู้ที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก จะถือเป็นเรื่องสำคัญของการบอกแนวทางการทำงาน และภาระหน้าที่ของประธานาธิบดี ว่าจะนำพาประเทศไปในทิศทางใด

John Fortier จาก Bipartisan Policy Center องค์กรวิเคราะห์ทางการเมืองสหรัฐฯ บอกว่า ปัญหาความแตกแยกในสังคมอเมริกันที่ยังคงดำเนินอยู่หลังชัยชนะในการเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นความท้าทายแรกๆ ที่ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องเผชิญ

นักวิเคราะห์จากศูนย์วิเคราะห์เชิงนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค บอกว่า "การขึ้นแถลงในพิธีสาบานตนถือเป็นโอกาสสำคัญมาก สำหรับการบอกกับประชาชนทั้งประเทศเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี และบางทีก็อาจจะมีบางเรื่องที่แตกต่างออกไปจากเมื่อครั้งเดินสายหาเสียง"

Reagan Inauguration 1981

ขณะที่ John Hudak นักวิเคราะห์ จาก Brooking Institution บอกว่า "ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น พิธีสาบานตนของประธานาธิบดีจะช่วยลดความร้อนแรงทางการเมืองให้กลับมาสู่การเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยความหมาย และตามแนวทางแห่งประชาธิปไตย"

เขาบอกว่าประธานาธิบดีโอบามา และว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะนั่งรถจากทำเนียบขาวเดินทางไปร่วมพิธีสาบานตนด้วยกันที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สงบราบรื่น เคร่งครัดในพิธีการ

ซึ่งเป็นการสืบทอดธรรมเนียมสำคัญที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก

Norm Ornstien นักวิเคราะห์จาก สถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่า "การขึ้นกล่าวแถลงเป็นครั้งแรกของว่าที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ยังคงเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้"

เขาบอกว่า ปกติการกล่าวแถลงในพิธีสาบานตนจะมีการเตรียมสคริปต์ไว้ล่วงหน้า และให้ประธานาธิบดีได้กล่าวตามสิ่งที่ร่างขึ้น แต่สำหรับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ผ่านมามักจะไม่ค่อยอ่านตามสคริปต์มากนัก

แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ว่าที่ประธานาธิบดีลำดับที่ 45 เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ล่วงรู้

Your browser doesn’t support HTML5

ย้อนอดีตพิธีสาบานรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ โอกาสและความท้าทายของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’