นักจิตวิทยาแนะ 5 วิธีแก้นิสัย 'ผัดวันประกันพรุ่ง' รักษาสุขภาพจิต

การผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าเป็นอุปนิสัยที่ยืดเยื้อเรื้อรัง อาจส่งผลเสียอย่างมากต่อชีวิตครอบครัว การงานหรือสุขภาพได้

Your browser doesn’t support HTML5

Procastination

การผัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ทำกันมาแล้วทุกคนไม่มากก็น้อย

แต่บทความในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ในเรื่องนี้ ชี้แนะว่าผลกระทบของการผัดวันประกันพรุ่งนี้ ถ้าเป็นอุปนิสัยที่ยืดเยื้อเรื้อรัง อาจส่งผลเสียอย่างมากต่อชีวิตครอบครัวหรือการงานได้

นักจิตวิทยานิยามการผัดวันประกันพรุ่ง ว่าเป็นการจงใจชะลอการกระทำ แม้เจ้าตัวจะรู้ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต หรือการมุ่งหาความสนุกหรือความเพลิดเพลินในระยะสั้น แม้จะต้องชดใช้ผลในระยะยาว

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Stockholm เผยแพร่รายงานการศึกษาของตนในเรื่องนี้ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ระบุว่าการผัดวันประกันพรุ่งที่เรื้อรังนั้น คือการที่คนเราจัดการกับความกดดันทางอารมณ์และจิตใจ

ยกตัวอย่างเช่นแทนที่จะทำงานให้แล้วเสร็จ เราอาจเลือกไปออกกำลังกายที่โรงยิมแทน โดยบอกกับตัวเองว่า การออกกำลังกายเป็นประโยชน์ นักจิตวิทยาเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าเป็น “การชดเชยทางจิตใจ” ที่ทำให้ผู้กระทำมีความรู้สึกดี แม้จะเป็นการเลี่ยงงานก็ตาม

นักผัดวันประกันพรุ่งบางคนอ้างว่า ที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ เพราะกำลังคิดหาทางทำเพื่อให้ได้ผลสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกันอีก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลที่อาจเกิดขึ้นตามมากับอุปนิสัยผัดวันประกันพรุ่งที่ฝังลึกเรื้อรังนั้น อาจทำให้ชีวิตครอบครัวล่มสลาย ถูกออกจากงาน และบ่อยครั้งทำให้เจ้าตัวมีความรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง

ทั้งหมดนี้ เชื่อมโยงได้กับโรคเศร้าซึม ความกระวนกระวายใจ และสุขภาพร่างกายโดยทั่วไปที่ไม่ดี

ศาสตราจารย์ Timothy Pychyl ซึ่งสอนวิชาจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Carleton ในกรุง Ottawa ของแคนาดา ให้คำแนะนำเพื่อแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ไว้เป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นแรก - แบ่งโครงการงานที่จะต้องทำออกเป็นส่วนๆ โดยกำหนดเป้าหมายของงานแต่ละส่วนไว้

ขั้นที่สอง - เริ่มต้นทำงาน

ขั้นที่สาม - เตือนใจตนเองเสมอว่า การทำงานเสร็จจะเป็นประโยชน์กับตนเองในอนาคต และการเลื่อนการทำงานออกไปในตอนนี้ จะไม่ทำให้งานชิ้นนี้สนุกน่าทำงานมากขึ้นในอนาคต

ขั้นที่สี่ - กำหนดการลงโทษตนเองถ้าเลื่อนเวลาเริ่มทำงานออกไป โดยไม่ต้องเป็นโทษหนักหนาอะไร เช่นถ้าอยากจะเล่นวิดีโอเกมแทนการทำงาน ก็ต้องไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งต่างหาก

ขั้นสุดท้าย -ให้รางวัลตนเองเมื่อทำงานเสร็จทั้งหมด โดยจะให้รางวัลเล็กๆ เป็นระยะเมื่อทำงานตามเป้าหมายย่อยเสร็จด้วยก็ได้

นักวิจัยหลายทีมงานกำลังศึกษาทดลองวิธีต่างๆ ที่จะแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง รวมทั้งวิธีบำบัดโดยการสอนให้รู้จักช่วยตนเอง และการหารือกับนักจิตวิทยาเพื่อให้รู้จักตนเองและมองอนาคตของตนเองได้ในระยะยาว เหล่านี้เป็นต้น

จะมีผลการทดลองวิธีบำบัดบางวิธีเป็นเวลาหนึ่งปีเผยแพร่ออกมาให้ได้ทราบกันในปีนี้ว่า วิธีใดทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน?