นักวิจัยสหรัฐฯ พบวิธีบำบัด 'โรคตาขี้เกียจ' ด้วย 'วิดีโอเกมส์' ชี้ได้ผลเร็วกว่าวิธีรักษาแบบดั้งเดิม

  • Carol Pearson

Your browser doesn’t support HTML5

Technology Better Than Regular Treatment for 'Lazy Eye'

Your browser doesn’t support HTML5

Health Lazy Eye Treatment

ปกติแล้ว "ภาวะตาขี้เกียจ" เป็นปัญหาสายตาที่สามารถรักษาหายได้ แต่หากปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่รักษา ภาวะตาขี้เกียจจะส่งผลกระทบต่อการอ่าน และการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กในการเขียน ที่รวมถึงการประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ

ตลอดจนมีผลเสียต่อความสำเร็จทางการเรียน และความรู้สึกต่อตัวเองของเด็ก นอกจากนี้ ภาวะตาขี้เกียจที่ไม่ได้รับการรักษาอาจจะเป็นเหตุให้ตาบอดได้

เด็กที่เป็นโรคตาขี้เกียจอาจจะดูเป็นปกติ แต่ตาข้างหนึ่งจะสามารถส่งสัญญาณไฟฟ้าที่เเข็งเเรงกว่าตาอีกข้างหนึ่งไปยังสมอง เพราะมองเห็นชัดไม่เท่ากัน หากปล่อยเอาไว้โดยไม่รักษา ความสามารถในการส่งสัญญาณการมองเห็นไปยังสมองของตาข้างที่มัวกว่าจะยิ่งเเย่ลงไปอีก หรืออาจจะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่ควรจะเป็น

โดยทั่วไป เเพทย์จะรักษาภาวะตาขี้เกียจด้วยการปิดตาข้างที่ปกติดี เพื่อบังคับให้ตาข้างที่ผิดปกติทำงานแทน และฝึกส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองได้ดีขึ้น แต่การบำบัดเเบบนี้อาจจะไม่ช่วยให้เด็กมีระดับการมองเห็นที่ 20/20

กล่าวคือ เด็กอาจจะใช้ตาข้างหนึ่งในการมองในระยะไกล และใช้ตาอีกข้างหนึ่งในการมองระยะใกล้

ทีมนักวิจัยที่ Retina Foundation of the Southwest ในเมือง Dallas รัฐ Texas ต้องการทดลองดูว่า พวกเขาจะสามารถปรับปรุงการบำบัดมาตรฐานที่ใช้ในการรักษาภาวะตาขี้เกียจในเด็กได้อย่างไร

Dr. Krista Kelly หัวหน้าการศึกษานี้กล่าวว่า ภาวะตามองเห็นชัดไม่เท่ากัน หรือภาวะตาขี้เกียจนี้ นอกจากจะทำให้มองเห็นไม่ชัดเเล้ว ยังทำให้เกิดความบกพร่องในความสามารถของการมองเห็นเชิงสามมิติ การอ่าน และความสามารถของการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย

ความบกพร่องนี้จะไม่หายไปเเม้จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เเล้วก็ตาม และเมื่อไม่สามารถมองเห็นเชิงสามมิติได้ คุณก็จะขับรถยนต์ไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ และการมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยทั่วไปจะบกพร่อง

ทีมนักวิจัยในรัฐเท็กซัสทีมนี้ ทำการทดลองรักษาภาวะขี้เกียจในเด็ก ด้วยการให้เด็กกลุ่มเเรกเล่นวิดีโอเกมที่ออกเเบบพิเศษบน iPad โดยไม่ปิดตาข้างที่ปกติดี แต่ให้เด็กสวมเเว่นตาเเทน

เด็กในการทดลองบำบัดอายุตั้งเเต่ 4 – 10 ปี เเว่นตาที่ทีมนักวิจัยให้เด็กสวมเป็นเเว่นตาที่ปรับการมองเห็นของเด็ก เด็กต้องใช้งานตาข้างที่อ่อนแอมากกว่าตาข้างที่ดีในการเล่นวิดีโอเกมดังกล่าว ซึ่งทำให้เด็กต้องใช้สายตาทั้งสองข้างร่วมกันในการเล่นวิดีโอเกม

ในเด็กที่เป็นภาวะตาขี้เกียจกลุ่มที่สอง ทีมนักวิจัยให้เด็กสวมที่ปิดตาข้างที่ดีเท่านั้น เมื่อครบสองสัปดาห์ ทีมนักวิจัยทำการประเมินผลการรักษาในเด็กทั้งสองกลุ่ม

Kelly หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่า ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่สวมเเว่นตาและเล่นวิดีโอเกม มีอาการดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่สวมเฉพาะที่ปิดตาเท่านั้น

เด็กกลุ่มที่เล่นวิดีโอเกมบน iPad มีอาการดีขึ้นอย่างมาก จนทีมนักวิจัยทดลองให้เด็กทั้งสองกลุ่มเล่นวิดีโอเกม หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่เพิ่งเริ่มเล่นวิดีโอเกมได้นาน 2 สัปดาห์ เริ่มมีอาการดีขึ้นเท่ากับเด็กกลุ่มเเรกที่เล่นวิดีโอเกมนาน 4 สัปดาห์

มาถึงตอนนี้ Kelly หัวหน้าทีมนักวิจัย วางแผนทดลองต่อไป โดยต้องการเพิ่มจำนวนเกมใหม่ๆ เข้าไปในการบำบัด หรืออาจจะใช้วิดีโอในการบำบัด โดยจะทดลองให้เด็กเล่นเกมหรือดูวิดีโอนานติดต่อกันกว่า 4 สัปดาห์ แล้ววัดผลดูว่าได้ผลดีมากขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเเค่ไหน

(รายงานโดย Carol Pearson / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)