การศึกษาชี้ ‘แมวน้ำช้าง’ เจอปัญหาใหญ่ ทำอย่างไรจะอ้วนได้ตลอดเวลา?

elephant seals

Your browser doesn’t support HTML5

Elephant Seals DO a lot of work to Stay Fat


การลดความอ้วนที่ว่ายากแล้ว การขุนตัวเองให้อ้วนก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน สำหรับสิ่งมีชีวิตอย่างเจ้าแมวน้ำช้าง บ้างก็เรียกว่า ช้างน้ำ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า elephant seal เพราะการศึกษาชิ้นใหม่บ่งชี้ว่าเจ้าแมวน้ำช้างนี้ ต้องพยายามอย่างหนักในการรักษาความอ้วนเอาไว้เพื่อความอยู่รอด

การวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ ศึกษาพฤติกรรมการกินของแมวน้ำช้าง northern elephant seal โดยเฉพาะแมวน้ำช้างเพศเมีย ในช่วงระยะ 2 เดือนที่มันต้องอพยพทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก จากที่พวกมันต้องใช้เวลาวันละ 20-24 ชั่วโมง ดำน้ำลึกลงไปใต้ทะเลแบบไม่หยุดพัก แมวน้ำช้างจะกินอาหารมากถึง 1,000-2,000 ครั้งต่อวัน เพื่อสะสมไขมันที่จำเป็นต่อการเดินทาง การผสมพันธุ์ และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายระหว่างเส้นทางใต้ทะเลลึกอันหนาวเหน็บ

ไทกิ ฮาดาชิ จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ในสก็อตแลนด์ หัวหน้าการวิจัยชิ้นนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เก็บข้อมูลของแมวน้ำช้างเพศเมีย 48 ตัว ที่ Año Nuevo State Park ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วงปี 2011 และปี 2018 บอกว่า มันไม่ง่ายเลยที่แมวน้ำช้างจะขุนตัวเองให้อ้วนได้ขนาดนี้ในระหว่างการเดินทางไปกลับราว 17,600 กิโลเมตรใต้มหาสมุทรสำหรับเพศเมีย และกว่า 20,000 กิโลเมตรสำหรับเพศผู้

ทีมวิจัยใช้อุปกรณ์ติดตามตัว 3 ชิ้นกับแมวน้ำช้างเหล่านี้ โดยติดอุปกรณ์ติดตามตัวชิ้นแรกไว้ที่ขากรรไกร เพื่อจับจังหวะการกินอาหาร และวัดระดับความลึกของน้ำที่แมวน้ำช้างดำลงไป ชิ้นที่สองเป็นอุปกรณ์ที่ติดบนส่วนหัวของแมวน้ำช้าง เพื่อจับทิศทางการเคลื่อนที่ในมหาสมุทรของพวกมัน และอุปกรณ์ชิ้นที่สามเป็นกล้องขนาดเล็ก พร้อมไฟ LED และอินฟาเรดและเซนเซอร์ตรวจจับความลึกของน้ำ ซึ่งติดไว้บนหัวของแมวน้ำช้างอีกเช่นกัน

แมวน้ำช้าง เป็นสัตว์ตระกูลแมวน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในมหาสมุทรขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากวาฬ

แมวน้ำช้าง ถูกขนามนามจากจมูกอันใหญ่โตของแมวน้ำช้างเพศผู้ ซึ่งดูเหมืองกับงวงช้าง และแมวน้ำช้างมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ northern elephant seal และ southern elephant seal ที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

แมวน้ำช้างเพศผู้โตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวยาวได้ถึง 4 เมตร และหนักกว่า 2,000 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียจะตัวเล็กกว่ามาก มีขนาดลำตัวยาวสูงสุด 3 เมตร และน้ำหนักตัวสูงสุดราว 590 กิโลกรัม

วิถีการหาอาหารของแมวน้ำช้างเพศผู้จะหากินตามแหล่งน้ำชายฝั่ง และพึ่งพาอาหารด้วยการดำลงไปในน้ำลึกเพื่อให้เพียงพอต่อขนาดตัวของพวกมัน เช่นเดียวกับวาฬที่ต้องว่ายลงไปในทะเลลึกเพื่อล่าปลาหมึกยักษ์เป็นอาหาร

ฮาดาชิ อธิบายว่า แมวน้ำช้างเพศเมียมีวิธีที่แตกต่าง เพราะมันเลือกที่จะกินปลาขนาดเล็กในปริมาณมากๆ แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากในการหาอาหารให้พอสำหรับร่างกาย พวกมันจึงต้องดำดิ่งลงไปใต้ทะเลลึกเพื่อกินอาหาร โดยใช้เวลาดำน้ำไปหาอาหารใต้ทะเลเฉลี่ย 20 นาที และนานสุดถึง 1,000 นาทีต่อครั้ง ที่ความลึกเฉลี่ย 1000 - 2000 ฟุตต่อครั้ง แต่ก็มีสถิติที่บางตัวสามารถดำน้ำลงไปหาอาหารได้ลึกถึงเกือบ 6000 ฟุตเลยทีเดียว และใช้เวลาผุดขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำเพียงครั้งละ 2-3 นาทีเท่านั้น

หัวหน้าการวิจัยชิ้นนี้ เพิ่มเติมว่า แมวน้ำช้างนี้จะไม่กลับมาใช้ชีวิตบนบกเป็นเวลา 2 เดือนเต็มในช่วงเวลาการอพยพในแต่ละปี และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ในมหาสมุทรชนิดนี้ยังเต็มไปด้วยความน่าพิศวง อย่างประเด็นเรื่องการนอนหลับของมันที่นักวิจัยยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน และจากข้อมูลที่มีอยู่ คาดว่า แมวน้ำช้างมีเวลานอนหลับไม่ถึง 20% ในแต่ละวัน

ทั้งนี้ northern elephant seal ที่อยู่ในการศึกษาชิ้นล่าสุดนี้ อาศัยอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ ทั้งแคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา และทุกๆปีมันจะมาออกลูกที่ชายฝั่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมจนถึงมีนาคม และในฤดูผสมพันธุ์ แมวน้ำช้างจะไม่ยอมกินอาหารใดๆ จนทำให้น้ำหนักตัวของมันลดลงถึงราว 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัวปกติเลยทีเดียว