‘โดรนนก’ งานวิจัยเปลี่ยนนกสตัฟฟ์เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยี

Taxidermy bird drone

เมื่อเราลองมองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วเห็นฝูงนกบินผ่านไป จะมีใครบ้างไหมที่สงสัยว่า ในบรรดานกที่กำลังบินผ่านไปนั้น มีนกที่ถูกชุบชีวิตใหม่ร่วมบินอยู่ด้วยหรือไม่

ที่ผ่านมา อาจไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นจริงได้แล้ว ด้วยความสามารถของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New Mexico Tech ที่ได้ใช้วิธีที่แหวกแนวมาพัฒนางานวิจัยเพื่อการเฝ้าสังเกตการณ์สัตว์ป่า

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เดินทางไปยังเมืองโซคอร์โร รัฐนิวเม็กซิโก เพื่อพูดคุยกับ ดร. มอสตาฟา ฮัสซานาเลียน อาจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นผู้นำโครงการใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งก็คือ การใช้นกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้มาดัดแปลงเป็นโดรน

Brendn Herkenhoff, PhD student at New Mexico Tech, is preparing taxidermy bird.

ดร. ฮัสซานาเลียน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท 2 ใบที่เกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องโดรนแบบมีปีกกระพือ ที่ใช้วัสดุเทียมเป็นส่วนประกอบ แต่เมื่อเขาพบว่า มันไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับนกจริง จึงตัดสินใจมอบชีวิตใหม่ให้กับนกที่ตายแล้ว และเปลี่ยนซากนกให้กลายเป็นโดรน

Dr. Mostafa Hassanalian, New Mexico Tech, with fake bird drone

ดร.ฮัสซานาเลียน กล่าวว่า นกสตัฟฟ์ หรือนกที่ตายแล้วสามารถถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นโดรนได้แล้ว โดยสิ่งเดียวที่ต้องทำให้ซากนกกลับมามีชีวิตก็คือ การออกแบบกลไกใส่ในร่างของพวกมันที่มีส่วนประกอบทุกอย่างครบอยู่แล้วทั้งหาง ปีก หัวและตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยกลับนั่นเอง

ในการพัฒนาโครงการนี้ กลุ่มนักวิจัยที่นำทีมโดย ดร.ฮัสซานาเลียน ร่วมกันคำนวณน้ำหนัก ความถี่ และมุมในการกระพือปีกของนก ในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจำลองสิ่งที่คล้ายกันในรูปแบบของโดรน

และเพราะนกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้และถูกเปลี่ยนเป็นโดรนยังไม่สามารถบินร่วมฝูงกับนกตามธรรมชาติ ทีมวิศวกรจึงทำการทดลองสิ่งประดิษฐ์นี้ภายในกรง โดยการทดลองเช่นนี้จะทำให้พวกเขาสามารถศึกษาการจัดเรียงตัว การบิน รวมถึงการอพยพของฝูงนกได้

Fake bird drone

ทั้งนี้ การพัฒนาซากนกให้กลายมาเป็นอุปกรณ์การบินไร้คนขับนี้ไม่ต่างกับการพัฒนางานของอุตสาหกรรมการบิน และดร.ฮัสซานาเลียน อธิบายว่า "ถ้าเรารู้วิธีที่นกจัดการพลังงานของพวกมัน เราสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เพื่อประหยัดพลังงานและน้ำมันมากขึ้นได้"

เบรนเดน เฮอร์เคนฮอฟ นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย New Mexico Tech คือหนึ่งในผู้ร่วมโครงการวิจัยนี้และมุ่งเน้นการวิจัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติไปที่การใช้สีและประสิทธิภาพการบินสำหรับโดรนและเครื่องบินต่างๆ

ในขณะที่ผู้คนมักจะมองว่า สีของนกเป็นส่วนหนึ่งของวิธีดึงดูดคู่ครอง หรือเป็นสิ่งที่ใช้พรางตัว แต่นักศึกษาปริญญาเอกคนนี้ชี้ว่า สีของนกมีผลต่อประสิทธิภาพการบินเช่นกัน

Brendn Herkenhoff, PhD student at New Mexico Tech

เฮอร์เคนฮอฟ อธิบายว่า "เราทำการทดลองแล้วและสรุปความได้ว่า สำหรับเครื่องบินปีกคงที่ (ไม่สามารถพับได้) การใช้สีบางสีสามารถเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการบินได้ และเราก็เชื่อว่า (ทฤษฎีนี้)ก็ใช้ได้กับนกเช่นกัน"

การทดลองต่าง ๆ โดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ช่วยให้ ดร.ฮัสซานาเลียน สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของโดรนที่สร้างมาจากนกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้เพื่อให้สามารถบินได้นานขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะที่ เทคโนโลยีนี้น่าจะมีประโยชน์การใช้งานได้อย่างมาก ประเด็นการใช้โดรนก็ยังก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งผู้นำของการวิจัยนี้ก็ตระหนักดีถึงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะมีกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวแสดงความกังวลว่า เทคโนโลยีโดรนอาจถูกนำมาใช้สำหรับการตรวจสอบทางทหารหรือแม้แต่การบังคับใช้ด้านกฎหมาย

Dr. Mostafa Hassanalian, New Mexico Tech, working with a student on taxidermy bird drone

ดร. ฮัสซานาเลียน ซึ่งเข้าใจถึงความกังวลด้านนี้กล่าวว่า "เราไม่สามารถปฏิเสธว่า การใช้งานเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้ในงานทางทหาร แต่สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือ การใช้งานสำหรับพลเรือน โดยเฉพาะเพื่อทำความเข้าใจชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงการเฝ้าติดตามนก”

อาจารย์ท่านนี้เผยด้วยว่า ตัวเขาและทีมงานจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีก 2 ปี โดยขั้นตอนถัดไปคือ การหาวิธีที่จะทำให้โดรนบินได้นานขึ้น จากที่ปัจจุบัน โดรนต้นแบบที่สร้างจากนกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้สามารถบินได้เพียงแค่ 10 ถึง 20 นาทีเท่านั้น

  • ที่มา: รอยเตอร์