วิกฤติโควิด-19 กับกรณีสิทธิมนุษยชนและภาวะโลกร้อน

(FILES) In this file photo United Nations Secretary-General Antonio Guterres speaks during a press conference at the African Union headquarters during the 33rd African Union (AU) Summit on February 8, 2020, in Addis Ababa. - UN Secretary-General…

Your browser doesn’t support HTML5

UN Covid

องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนประชาคมโลกให้ระวังว่า วิกฤติการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อาจนำไปสู่วิกฤติการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแสดงความกังวลว่า หลังสถานการณ์ดีขึ้น ปัญหาภาวะโลกร้อนอาจเลวร้ายลงได้

อันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีเพื่อเรียกร้องให้นานาประเทศให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนของตนสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งแผนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ทั้ง อาหาร น้ำดื่มและที่อยู่อาศัยได้ ขณะที่ ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติโควิด-19 อยู่

กูแตแรส ระบุว่า การที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าจะเกิดกับใคร ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกคนจะเท่าเทียมกัน ดังนั้น ผู้มีอำนาจต้องทำการต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติเหมือนๆ กันอย่างทั่วถึง

เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ย้ำว่า ทุกคนควรพึงระลึกว่า “ภัยคุกคามที่แท้จริงคือไวรัส ไม่ใช่ผู้คน”

คำเรียกร้องขององค์การสหประชาชาตินี้มีออกมา ในขณะที่รัฐบาลในบางประเทศเริ่มพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาด ซึ่งองค์การอนามัยโลกออกมาเตือนก่อนหน้านี้แล้วว่า วิกฤติครั้งนี้ยังห่างไกลจากจุดสิ้นสุดนัก และหลายประเทศยังเพิ่งอยู่ในขั้นต้นของการระบาด ขณะที่บางประเทศที่เคยรายงานสถานการณ์ที่ดีขึ้น กลับเริ่มเห็นภาวะการระบาดกลับมาอีกรอบแล้ว

ในสหรัฐฯ เอง หน่วยงานสาธารณสุขเริ่มเรียกร้องให้ประชาชนเตรียมรับฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งหน้า และเตรียมฉีดยาป้องกันไว้ เพราะมีความน่าจะเป็นว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังไม่คลี่คลายดี และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะต้องพยายามแยกผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ให้ออกจากผู้ป่วยโคโรนาไวรัสสายพันธุใหม่ให้ได้

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์โรเบิร์ต เรดฟีลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC เตือนว่า อาจเกิดการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ และสถานการณ์อาจเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่เพราะเป็นฤดูเดียวกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ปกติ

ในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันของทีมเฉพาะกิจโควิด-19 ของทำเนียบขาวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายแพทย์ แอนโธนี่ เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาเชื่อว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะกลับมาในฤดูใบไม้ร่วง โดยดูจากอัตราการแพร่เชื้อทั่วโลกเท่าที่ผ่านมา แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนนั้นขึ้นอยู่กับประเด็นที่ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้มากเพียงใด เมื่อเวลานั้นมาถึง

ขณะเดียวกัน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ออกมาเตือนว่า หากภาวะโลกร้อนอย่างเช่นในปัจจุบันยังดำเนินต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายใน 10 ปีข้างหน้า และหากสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ผลกระทบร้ายแรงที่ตามมาจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย

และแม้นับตั้งแต่เกิดการระบาดมา อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกจะลดลงราว 6 เปอร์เซ็นต์ เพราะภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หยุดชะงัก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น อุตสาหกรรมทั้งหลายจะเร่งทำงานหนัก และสภาพอากาศก็จะเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องที่รุนแรงกว่ากรณีของโควิด-19 มากนัก เพราะเรื่องของอุณหภูมิโลกจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งเรื่องสาธารณสุขและการแพทย์ เช่นภาวะการขาดแคลนอาหาร รวมทั้งเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย