งานวิจัยระบุ 8 ประเทศ เสี่ยงปัญหาชำระหนี้โครงการ "หนึ่งถนน - หนึ่งวงแหวน" ของจีน

Map illustrating China's "One Belt, One Road" megaproject at the Asian Financial Forum in Hong Kong, Jan. 18, 2016.

Your browser doesn’t support HTML5

ผลกระทบจากโครงการ หนึ่งถนน - หนึ่งวงแหวน ของจีน

รายงานชิ้นล่าสุดของหน่วยงานวิเคราะห์นโยบายที่กรุงวอชิงตัน ระบุว่า โครงการระบบคมนาคม ‘หนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน’ หรือ ‘Belt and Road Initiative’ ที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม จะสร้างความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ต่อหลายประเทศ

หน่วยงาน Center for Global Development ศึกษาประเทศที่อาจกู้เงินสำหรับโครงการ Belt and Road ทั้งหมด 68 ประเทศ และพบว่ามี 8 ประเทศที่น่าจะเผชิญความเสี่ยงจากการแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดมหึมาที่เชื่อมต่อจีนกับส่วนต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

8 ประเทศดังกล่าวที่อาจประสบปัญหาชำระหนี้ได้ประกอบด้วย ลาว ปากีสถาน จิบูตี มัลดีฟ มองโกเลีย มอนเตเนโกร ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน

8 ประเทศที่ว่านี้อยู่ในกลุ่ม 23 ประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ตามการวิเคราะห์ของหน่วยงาน Center for Global Development หรือ CGD

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม ศรีลังกาซึ่งใช้เงินกู้จากจีน สร้างท่าเรือ Hambantota ขอโอนท่าเรือดังกล่าวไปให้หน่วยงานของรัฐบาลจีน China Merchant Port Holdings ไปรับผิดชอบแทน

ภายใต้โครงการ Belt and Road การสร้างระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์

ปากีสถานเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม 8 ประเทศความเสี่ยงสูง โดยมีรายงานว่าจีนให้การสนับสนุนทางการเงินร้อยละ 80 ของมูลค่าประเมินของหนี้เพิ่มเติม 6 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์ที่ปากีสถานต้องแบกรับ

หน่วยงาน CGD ระบุว่า โครงการขนาดใหญ่ของ Belt and Road Initiative มาพร้อมกับเงินกู้ดอกเบี้ยสูงจากประเทศจีน

ผู้สื่อข่าวของ CNBC สอบถามไปยังรัฐบาลจีน และรายงานว่ากระทรวงต่างประเทศจีนยังไม่ตอบอีเมล์ทันทีหลังจากที่ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างหลายโครงการจะเกิดขึ้นในประเทศลาว ซึ่งรวมถึงเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจีนและลาวมูลค่า 6 พัน 7 ร้อยล้านดอลลาร์ โดยมูลค่าโครงการดังกล่าวเทียบได้เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจลาว ด้วยเหตุนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เตือนว่าโครงการนี้อาจกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ของลาวได้

นักวิจัยของ CGD กล่าวว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างจีนและประเทศมหาอำนาจที่ให้เงินกู้อื่นๆ คือจีนไม่ได้ระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่เตรียมไว้หากเกิดปัญหาในการชำระหนี้ และจีนไม่ยึดตามแนวทางที่หลีกเลี่ยงการกู้เงินที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น CGD จึงเรียกร้องให้จีนปรับปรุงกฎเกณฑ์การให้เงินกู้

การศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า โดยรวมแล้ว โครงการ Belt and Road Initiative คงไม่น่าจะสร้างปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ แต่โครงการดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงด้านการชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ ต่อหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเป็นประเทศยากจน

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ The Wall Street Journal และ CNBC)