มุมมองที่แตกต่างของอาเซียนและจีนเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้

  • Irwin Loy

China claims the highlighted portion of the South China Sea. Many other governments also claim all or part of the South China Sea.

ผู้นำอาเซียนพยายามผลักดันระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ในการประชุมที่พนมเปญ แม้สมาชิกบางส่วนยังไม่เห็นด้วยและจีนยังไม่ยอมรับ
ประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไนและมาเลเซีย ต่างมีความขัดแย้งกับจีนในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนในบริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้ นำไปสู่ความประจัญหน้าทางทะเลระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรมต.ว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย นาย Marty Natalegawa ยืนยันว่าแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนสะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการข้อพิพาทนี้ พร้อมกับการรับประกันว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แม้มีรายงานว่าประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่เห็นด้วยกับข้อความในร่างแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้

ประเด็นสำคัญในการหารือที่พนมเปญสัปดาห์นี้คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในการเจรจาระเบียบปฏิบัติว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้กับจีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหาร โดยไม่กี่วันก่อนทางอาเซียนประกาศว่าได้มีความคืบหน้าในสาระสำคัญของระเบียบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว แต่ยังคงไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ต้องการให้รวมเอากลไกการจัดการความขัดแย้งไว้ในระเบียบปฏิบัตินี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางจีนเองนั้นได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ต้องการเจรจาเรื่องนี้เป็นรายประเทศ ไม่ใช่สมาคมอาเซียนทั้งกลุ่ม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน Liu Weimin กล่าวว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้ไม่ใช่ปัญหาระหว่างจีนกับอาเซียน แต่เป็นปัญหาระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียนบางประเทศเท่านั้น จึงไม่ควรนำประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นมาเจรจาในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนครั้งนี้

ในขณะที่คุณ Ian Storey นักวิเคราะห์แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิดข้อตกลงสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ในการกระชุมอาเซียน และเชื่อว่าการที่จีนต่อต้านการเจรจาเรื่องนี้ในอาเซียนอย่างแข็งขัน รวมทั้งการตอบสนองอย่างกราดเกรี้ยวในอดีต ทำให้ดูเหมือนความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

ถีงกระนั้น เลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เชื่อว่าการจัดการข้อพิพาทครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างตระหนักดี ดร.สุรินทร์ระบุว่าทั่วโลกต่างจับตามองและคาดหวังว่าจะมีข้อความที่ดี มีสาสน์แห่งความหวังและความมั่นใจออกมาจากทางอาเซียนเพื่อเป็นแนวทางจัดการเรื่องนี้