การประชุม เพื่อพิจารณาทบทวนแผนการปฏิบัติงานคุ้มครองเสือ ที่กรุงวอชิงตัน

  • ธัญญาภรณ์ สุนทรวงษ์

การประชุม เพื่อพิจารณาทบทวนแผนการปฏิบัติงานคุ้มครองเสือ ที่กรุงวอชิงตัน

ธนาคารโลก ได้จัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่บริหารงาน จากประเทศที่มีพื้นที่ที่เสืออาศัยอยู่โดยธรรมชาติ 13 ประเทศ

ในช่วงที่มีกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีวันคุ้มครองโลกที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารโลก ได้จัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่บริหารงาน จากประเทศที่มีพื้นที่ที่เสืออาศัยอยู่โดยธรรมชาติ 13 ประเทศ และ องค์การหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานอนุรักษ์สัตว์ป่ามากกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาทบทวนแผนการปฏิบัติงานคุ้มครองเสือ ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกอย่างยิ่งว่าใกล้จะสูญพันธุ์

แม้ว่าจะมีการพยายามคุ้มครองเสือมานานหลายปีแล้ว แต่จำนวนเสือทั่วโลกยังลดลงมากอย่างน่าตกใจและเกรงกันว่าจะสูญพันธุ์ สาเหตุนั้น รวมทั้ง การที่แหล่งที่อยู่อาศัยของเสือถูกรุกรานจากการหักร้างถางพง การตัดไม้ทำลายป่าและการขยายเขตเมือง และการลักลอบฆ่าเสือเพื่อนำชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของเสือไปขายเพื่อทำเป็นยา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ประมาณกันว่า ขณะนี้ มีเสือเหลืออยู่ในโลกเพียงราว 3,200 ตัวเท่านั้น ธนาคารโลก ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง สถาบันสมิธโซเนียน กองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก และนิตยสาร National Geographic กำลังทำงานรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการทำงานคุ้มครองเสือ และพยายามให้มีเสือเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าตัวให้ได้ภายในปี 2565 หรือในปีขาลรอบต่อไป

ในโอกาสที่มาแถลงเรื่องความร่วมมือดังกล่าว และพบกับผู้แทนของ 13 ประเทศที่เป็นแหล่งที่อยู่ของเสือโดยธรรมชาติ และจากหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่า 34 หน่วยงาน นาย Robert Zoellick ผู้อำนวยการใหญ่ธนาธารโลก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโครงการพิทักษ์เสือทั่วโลกขึ้นมาเมื่อปี 2551 เน้นย้ำความสำคัญและเร่งด่วนของงานนี้ นายรอเบิร์ต เซลลิคกล่าวว่า ถ้าเราล้มเหลวไม่สามารถคุ้มครองเสือไว้ได้ ความสูญเสียนี้ จะเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญอย่างยิ่งถึงความล้มเหลวในการที่จะธำรงรักษาพันธุ์สัตว์ต่างๆ ในโลก ซึ่งจะส่งผลถึงความสมดุลของระบบนิเวศ และต่อมวลมนุษย์ในเวลาต่อไป

นายรอเบิร์ต เซลลิคกล่าวว่า บทบาทของเจ้าหน้าที่อุทยาน และผู้นำทางการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงาน และกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเพื่อการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย และว่าปี 2553 หรือปีเสือนี้ เป็นโอกาสที่จะระดมกำลังทุกด้าน ในการดำเนินงานอย่างแข็งขันจริงจัง และ กระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป เข้าใจและตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา และเข้ามามีส่วนช่วย ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลก ขอบคุณประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยที่กำลังดำเนินงานสำหรับการประชุมเตรียมการ ซึ่งจะมีขึ้นที่เกาะบาหลีในเดือนกรกฏาคม อันจะนำไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำรัฐบาลเรื่องการคุ้มครองเสือที่เมืองวลาดิวอสต๊อค ในรัสเซียในเดือนกันยายน

และในโอกาสที่มาร่วมการประชุม ระดับเจ้าหน้าที่บริหารงานที่สำนักงานใหญ่ธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน คุณบุษบง กาญจนสาขา นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าเกี่ยวกับเรื่องที่นำมาเสนอต่อที่ประชุม คือเรื่อง ระบบการลาดตระเวน ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พิช นำมาใช้ในการดูแลรักษาประชากรเสือโคร่งในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และเขตทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์กับผู้แทนจากประเทศอื่นๆ และหน่วยงานอื่นๆ และพบกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่จะให้ทุนช่วยเหลือ