แปรปรวน! นักวิทยาศาสตร์ชี้ 'ขั้วโลกอุ่น' และ 'ยุโรปหนาวจัด' เกี่ยวข้องกัน

A man stands in front of the ancient Colosseum blanketed by the snow in Rome, Feb. 26, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

Arctic Warming Europe Freeze

หมู่เกาะซวาลบาร์ด (Svalbard) ของประเทศนอร์เวย์ ตั้งอยู่ด้านเหนือของ วงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) เเละในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาว พระอาทิตย์ยังจะไม่ขึ้นเหนือระดับเส้นขอบฟ้าอีกนานสามสัปดาห์

เเต่ปรากฏว่า เเผ่นน้ำเเข็งเริ่มละลายตัวเเล้ว คลื่นทะเลที่ถาโถมซัดฝั่งของหมู่เกาะเพียงไม่กี่ปีีแล้วเคยเยือกแข็ง รถสโนว์โมบิลหลายคันติดอยู่ในน้ำโคลนที่เกิดจากหิมะที่ละลาย

ในช่วง 30 กว่าวันที่ผ่านมา อุณหภูมิได้เพิ่มสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียสกว่าระดับปกติ เเละข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศชี้ว่า ระดับอุณหภูมิในขั้วโลกเหนือได้เพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับจุดเยือกเเข็งเเล้ว

อเล็ค เพ็ทที้ (Alek Petty) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศโลกแห่งองค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือ นาซ่า กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า เคยเกิดภาวะที่อุณภูมิในช่วงฤดูหนาวในขั้วโลกเหนืออุ่นขึ้นมาก่อน เเต่พบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดบ่อยมากขึ้น เเละเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานกว่าเดิม เเละยังมีความรุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย

สภาพอากาศที่อุ่นเเละมีความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าไปในขั้วโลกเหนือ ในขณะเดียวกันปริมาณแผ่นน้ำเเข็งที่ปกคลุมผิวหน้าทะเลก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดตั้งเเต่เริ่มมีการบันทึกมา

บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในบริเวณขั้วโลกเหนือกำลังอุ่นมากขึ้นกว่าเดิม เร็วขึ้นสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยของทั่วโลก

ศาสตราจารย์ จี.ดับบลิว.เค. มัวร์ เเห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ (Professor G.W.K. Moore) กล่าวว่า มหาสมุทรได้เก็บกักความร้อนไว้ในปริมาณมาก เเละทันทีที่แผ่นน้ำเเข็งบนผิวหน้าทะเลหมดไป ความร้อนในน้ำทะลจะเปลี่ยนถ่ายไปอยู่ในชั้นบรรยากาศ เเละเชื่อว่าระดับความกดอากาศต่ำในชั้นบรรยากาศโลกนี้ กำลังได้รับความร้อนเข้าไปเพิ่มเติม

สภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นของขั้วโลกเหนือเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติทั่วยุโรป ระดับอุณหภูมิในเยอรมนีได้ลดลงไปอยู่ติดลบ 27 องศาเซลเซียส ในขณะที่สภาพอากาศหนาวเย็นจัดในยูเครนทำให้เกิดปัญหากระแสไฟฟ้าดับ และหิมะตกในกรุงโรม ปกคลุมโคลอสเซียมเเละอ่าวเนเปิลส์จนขาวโพลน

พายุหิมะที่มีต้นกำเนิดในไซบีเรียตกหนักในอังกฤษ ซึ่งประสบกับสภาพอากาศที่หนาวจัดที่สุดในรอบ 26 ปี ทำให้ประชาชนหลายร้อยคนติดอยู่ในรถยนต์ระหว่างการเดินทางในสก็อตเเลนด์ โรงเรียนหลายพันแห่งปิดเเละสนามบินหลายเเห่งยกเลิกเที่ยวบิน หิมะที่สูงถึง 90 เซ็นติเมตรเเละอุณหภูมิติดลบกว่า 10 องศาเซลเซียส ทำให้ทางการในอังกฤษ สก็อตเเลนด์เเละไอร์เเลนด์ออกคำเตือนถึงสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด แนะนำให้ประชาชนให้อยู่กับบ้านเพราะอันตรายเกินไปที่จะเดินทาง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ทฤษฎีที่เรียกกันว่า "ขั้วโลกเหนืออุ่น ทวีปต่างๆ หนาวเย็น" (warm Arctic, cold continents) ชี้ว่าลมหนาวที่ไหลเวียนรอบๆ ขั้วโลกเหนือ ที่ปกติจะเก็บกักความหนาวเย็นเอาไว้ อย่างที่เรียกว่า โพลาร์วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) เริ่มอ่อนเเรงลง ทำให้ดูดเอาอากาศอุ่นกว่าเข้าไปภายในเเล้วปล่อยอากาศที่เย็นจัดออกมาสู่พื้นที่ในบริเวณละติจูดที่อยู่ต่ำกว่า

ผู้เชี่ยวชาญแห่งนาซ่า กล่าวว่า เกิดคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่? ที่การสูญเสียแผ่นน้ำเเข็งบนผิวหน้าของทะเล เเละการอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิอย่างที่เห็นเกิดขึ้นในขั้วโลกเหนือนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอากาศหนาวเย็นจัดในยุโรปมากขึ้น แต่คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบเพราะโชคร้ายที่ยังมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่น้อย

ศาสตราจารย์มัวร์ เเห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ กล่าวว่า ในระดับเหนือพื้นดินขึ้นไป 30 กิโลเมตร ชั้นบรรยากาศโลกที่เรียกว่า ชั้นสตราโตสเฟียร์ อุ่นขึ้นกระทันหัน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาพภูมิอากาศ

เขากล่าวว่า การอุ่นขึ้นอย่างกระทันหันของชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์นี้ ทำให้โพลาร์วอเท็กซ์ ซึ่งเป็นกระเเสลมเเรงที่ไหวเวียนไปทั่วโลกอ่อนแรงลง ทำให้ยุโรปได้รับอิทธิพลจากลมหนาวที่พัดมาจากทิศตะวันออกจากไซบีเรีย

ในระยะสั้น อุณหภูมิที่ลดลงอย่างกระทันหันสร้างปัญหาแก่การเดินทางในยุโรป ทำให้สนามบินหลายแห่งปิดทำการ รถไฟหลายสายหยุดให้บริการ เเละมีการปิดถนนหลายเส้น และในระยะยาว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจจะมีความรุนแรงแก่โลกมากกว่าที่คาดคิดเอาไว้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)