สรุปผลการวิจัย เกี่ยวกับประโยชน์ หรือคุณค่าของผู้สูงอายุ

ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่อยู่ในวัย 60 ปีขึ้นไปนั้น มีความรอบรู้ โดยเฉพาะรู้จักวิเคราะห์ หรือเสนอวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้งในระดับชุมชน และระดับบุคคล นอกจากนั้นยังรับความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนของชีวิตได้ด้วย

หัวหน้าทีมวิจัยอาจารย์ริชาร์ด อี ริซเบ็ก แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน และผู้ร่วมงานลงความเห็นสรุปไว้ในรายงานว่า ผลกระทบที่อายุมีต่อความเฉลียวฉลาดรอบรู้ มีให้เห็นในทุกระดับชั้นของสังคม การศึกษา และระดับภูมิปัญญา หรือไอคิว และผู้ที่เป็นอาจารย์ และนักวิชาการ ไม่ฉลาดรอบรู้มากไปกว่าผู้อื่น ที่ได้รับการศึกษาระดับเดียวกัน

ทีมนักวิจัยแบ่งอาสาสมัครที่ร่วมงาน 247 คนออกเป็นสามกลุ่มอายุ กลุ่มแรกอายุระหว่าง 25-30 ปี กลุ่มที่สอง 41-59 ปี และกลุ่มสุดท้าย อายุ 60 ปีขึ้นไป

นักวิจัยให้คนทั้งสามกลุ่ม แยกกันพิจารณาปัญหาขัดแย้งทางสังคม ระหว่างผู้อพยพใหม่กับเจ้าของถิ่น ซึ่งอยากจะเห็นผู้อพยพใหม่ ปรับตัวให้เข้ากับสังคมท้องถิ่น รวมทั้งเรียนรู้ภาษาด้วย ในขณะที่ผู้อพยพ อยากจะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ในถิ่นที่อยู่ใหม่

อาสาสมัครทั้งสามกลุ่มให้ข้อเสนอแนะ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว และคำแนะนำของกลุ่มที่มีอายสูงกว่าเพื่อน แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะในการใช้ภูมิปัญญาเพื่อประโยชน์ของสังคม

สมรรถนะเหล่านั้นคือความเข้าใจแง่มุมที่ต่างกันของประเด็น ความตระหนักว่าสถานการณ์ไม่อยู่นิ่งเฉย และสามารถคาดคะเนผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา การยอมรับขีดจำกัดของตนเอง และความเต็มใจที่จะประนีประนอม

นอกจากจะใช้ผลงานวิจัยชิ้นนี้มายืนยันว่า สังคมยังอาจใช้ผู้เจริญวัยให้เป็นประโยชน์ได้แล้ว อาจารย์เอซ ดู๊ก ฮาน ซึ่งศึกษาทางด้านประสาทวิทยา และจิตวิทยา อยู่ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรัช ในนครชิคาโก้บอกว่า การศึกษาภาพถ่ายสมอง แสดงให้เห็นด้วยว่าผู้ที่มีอายุสูงขึ้น จะใช้สมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ความจำ มากกว่าคนหนุ่มคนสาว สมองส่วนนี้ เป็นสมองส่วนที่ใช้วิเคราะห์เหตุผลแก้ปัญหา สร้างแนวคิด และทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน นับว่าเป็นหลักฐานยืนยันอีกชิ้นหนึ่ง

ผลงานวิจัยข้างต้น หาอ่านได้ใน Proceedings of The National Academy of Sciences ฉบับออนไลน์ ของวันที่ 5-9 เมษายน