บราซิลเป็นประเทศแรกในย่านละตินอเมริกา ที่นำรถประจำทางที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงมารับส่งผู้โดยสารในนคร

เซา เปาโล ซึ่งเป็นนครที่มีประชาชนแออัด คาดว่าการนำรถประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนี้จะช่วยลดมลพิษในนครที่มีประชาชนแออัดแห่งนั้นได้

ในทุกวันนี้ ถ้าคุณขึ้นรถประจำทางไปไหนมาไหนในนคร เซา เปาโล ประเทศบราซิล รถประจำทางที่คุณโดยสารไปอาจใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เมื่อเร็วๆ นี้ การขนส่งเขตนาครของนคร เซา เปาโล นำรถประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนคันแรก ในจำนวนทั้งหมดห้าคันมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร การที่ไฮโดรเจนทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจะได้ไฟฟ้ากับน้ำ

รถประจำทางคันนั้นใช้ระบบพันธุ์ทางคือ ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแบตเตอรี่กำลังสูง รถประจำทางคันนั้นสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางสามร้อยกิโลเมตร โดยใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแบตเตอรี่จะช่วยให้รถวิ่งต่อไปได้อีกห้าสิบกิโลเมตร

รถประจำทางคันนั้น วิ่งรับส่งผู้โดยสารตามชุมชนต่างๆ รอบเขตนคร เซา เปาโล โครงการพัฒนาการแห่งสหประชาชาติ ธนาคารโลก องค์การภาคเอกชนและภาครัฐ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศอื่นๆให้ความสนับสนุนโครงการดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ของโครงการ คาร์โลส ซุนด์กล่าวว่ารถประจำทางคันนั้นเป็นรถประจำทางคันแรกที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในละตินอเมริกา และว่ารถดังกล่าวปล่อยควันซึ่งเป็นไอน้ำออกมาอย่างเดียวและเป็นรถที่ปราศจากมลพิษโดยสิ้นเชิง นายคาร์โลส ซุนด์กล่าวว่ารถที่ใช้น้ำมันดีเซล คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษในนคร เซา เปาโล ยังไม่มีการประกาศให้ทราบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการใช้รถประจำทางคันนั้น รถประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถประจำทางที่ใช้น้ำมันดีเซล แต่นายคาร์โลส ซุนด์กล่าวว่าการลดมลพิษ และฝนกรดจะช่วยลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับการหายใจในหมู่ชาวนคร เซา เปาโล นอกจากนี้ รถประจำทางแบบใหม่ยังวิ่งได้เงียบสนิทและไม่มีเสียงรบกวนชาวบ้าน และเฉลี่ยแล้ว ใช้งานได้นานยี่สิบปี ดีกว่ารถประจำทางที่ใช้น้ำมันดีเซลซึ่งใช้งานได้นานระหว่างห้าถึงสิบปี

นคร เซา เปาโลมีประชากรเกือบยี่สิบล้านคน ชาวนคร เซา เปาโลเกือบครึ่งหนึ่ง ขึ้นรถประจำทางไปไหนมาไหนทุกวัน บราซิลเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรม สร้างรถประจำทางที่ใหญ่โต ทันสมัย สามารถแข่งขันกับที่อื่นได้ และเป็นผู้ผลิตรถประจำทางระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งของโลก บราซิลหวังว่าโครงการนั้นจะช่วยให้สามารถสร้างรถประจำทาง ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศได้ในอนาคตอีกด้วย

ตามรายงานของบราซิล นอกจากบราซิลแล้วก็ยังมีสหรัฐ จีน เยอรมนีและญี่ปุ่นที่สร้างรถประจำทางแบบนั้นได้

อย่างไรก็ดี มีผู้วิพากษ์ตำหนิว่า ค่าผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้นแพงมาก และมีพลังงานอย่างอื่นๆ ที่นำมาใช้กับรถประจำทางได้