Biomass หรือมวลชีวภาพ พลังงานทางเลือกใหม่

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือที่เรียกว่า มวลชีวภาพ คือแนวทางที่สามารถประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการผลิตพลังงานที่ใช้ในรถยนต์ ได้มากกว่าการใช้เชื้อเพลิงเอธาน่อล

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมีความกังวลเพิ่มขึ้น เรื่องราคาน้ำมัน และภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง ได้เบนความสนใจไปที่พลังงานทางเลือกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผลิตจากพืชต่างๆ เช่นเดียวกับเชื้อเพลิงชีวภาพ เรียกกันว่า มวลชีวภาพหรือ Biomass พลังงานจากมวลชีวภาพนี้ กำลังได้รับความสนใจว่าอาจใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้ในการเติมไฟแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า ได้ดีกว่าเชื้อเพลิงเอธาน่อล

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับสัปดาห์นี้ นักวิจัยได้เปรียบเทียบเชื้อเพลิงเอธาน่อลเหลว ซึ่งผลิตจากข้าวโพด กับไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตจาก switchgrass หญ้าพื้นเมืองในสหรัฐ ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดีและสามารถปลูกได้ ในพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีความสำคัญหรือที่รกร้าง ผลปรากฎว่าพลังงานจากหญ้า switchgrass ให้ผลที่ดีกว่าเชื้อเพลิงจากข้าวโพดในหลายๆ ด้าน นักวิจัย Elliott Campbell แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขต Merced หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้กล่าวว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าจากมวลชีวภาพ ในยานพาหนะต่างๆก่อให้เกิดก๊าซ ที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก น้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์ และว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากมวลชีวภาพ สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลกว่ารถยนต์ ที่ใช้พลังงานเอธาน่อลถึง 81% เมื่อเทียบจากปริมาณพื้นที่ที่ใช้ปลูก 1 หน่วย

นักวิจัยยังบอกด้วยว่าไฟฟ้าที่ได้จาก switchgrass คือแหล่งพลังงานที่มีประหยัด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่เคยศึกษามา และเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ในการเพาะปลูก switchgrass กับข้าวโพดเพื่อให้ได้พลังงานเท่าๆ กัน พบว่าใช้พื้นที่ในการปลูก switchgrass น้อยกว่าข้าวโพดมากทีเดียว นักวิจัย Campbell ยืนยันว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากมวลชีวภาพ คือพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต

นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่า หากนึกถึงวิธีที่ดีที่สุด ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแหล่งพลังงานชีวภาพ ก็ควรคำนึงถึงไฟฟ้าจากมวลชีวภาพว่า เป็นหนทางที่ดีหนทางหนึ่งเช่นกัน ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ขณะนี้จำเป็นต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนมาใช้มวลชีวภาพ เชนปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการผลิต มลพิษในอากาศ และต้นทุนโดยเปรียบเทียบ ของการปรับเปลี่ยนมวลชีวภาพไปเป็นเชื้อเพลิงเอธาน่อล หรือพลังงานไฟฟ้า