ความหวังใหม่ ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองฝ่อ

วงการแพทย์มีความหวังมากขึ้น ที่จะรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองฝ่อ หลังจากผลการทดลองเบื้องต้นในยุโรปและรัสเซียพบว่ายา “ดิมเมอร์บอน” ช่วยปรับปรุงความทรงจำของผู่ป่วย และขณะนี้กำลังมีการทดลองในสหรัฐฯ

โรคสมองฝ่อหรืออัลไซเมอร์นั้น เป็นความผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะบั่นทอนความทรงจำ ทักษะการใช้ภาษา และในที่สุดผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ ก็จะไม่สามารถดูแลตนเองได้ ความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นตามอายุ

มูลนิธิดีนในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งศึกษาวิจัยการใช้ยา “ดิมเมอร์บอน” จะส่งผลระยะยาวต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ พบว่า ยาชนิดนี้ให้ผลดีกว่าที่คาดไว้

คุณหมอเลสลีย์ เทย์เลอร์ หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า ”ดิมเออร์บอน” ไม่ได้รักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่ก็มีประสิทธิภาพดีกว่ายาที่ขายอยู่ตามท้องตลาดในเวลานี้

คุณอิวานก้า กราบาเร็ค ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เข้ารับการทดลองใช้ยานี้ โดยที่ตัวเธอและสามีไม่รู้ว่ากำลังได้รับยา “ดิมเออร์บอน” หรือยาหลอก ซึ่งคุณบิล กราบาเร็ค สามีของคุณอิวานก้า กล่าวว่า แม้การทดลองเป็นไปอย่างช้าๆ และยังไม่มีความแน่นอน แต่ก็เชื่อว่ามีความสำคัญและประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากผลวิจัยนี้

คุณหมอเลสลีย์ เทย์เลอร์ ระบุว่า จากการทดลองหลายครั้งก่อนหน้านี้พบว่ายา “ดิมเออร์บอน” ทำให้ความทรงจำของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นเวลา 1 ปีซึ่งนับว่ามากและเป็นความหวังใหม่ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

การทดลองในขั้นตอนสุดท้ายจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ จะเป็นผู้ตัดสินว่าจะอนุมัติให้ใช้ยาชนิดนี้ กับผู้ป่วยทุกคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่