อากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลให้น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายอย่างรวดเร็ว โดยผู้รู้เกรงว่าภูเขาน้ำแข็งที่เก่าแก่บนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญแก่แม่น้ำหลายสายในเอเชียอาจจะละลายหมดไปจากโลกภายในหนึ่งถึงสองชั่วอายุคนก็ได้ ถ้าหากโลกยังร้อนขึ้นทุกวัน

ภูเขาน้ำแข็งเป็นตัววัดการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศโลกที่ดีที่สุด เพราะละเอียดอ่อนอย่างมากต่อการขยับตัวสูงลงของอุณหภูมิ และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้ผู้รู้และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปัญหาโลกร้อน คือสาเหตุหลักที่ทำให้ภูเขาน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยละลายอย่างรวดเร็ว

ศาสตราจารย์ มาดาน ลาล เชษฐา จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเนปาล เล่าให้วีโอเอภาคภาษาไทยฟังถึงสภาพปัญหาว่า การละลายของน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วน่าเป็นห่วงมาก โดยประมาณว่าในส่วนหิมาลัยตอนกลางน้ำแข็งหายไปปีละ 10 เมตรทีเดียว โดยเขาบอกว่าสภาพการณ์ทางธรรมชาตินี้ เราไม่สามารถกอบกู้ชั้นน้ำแข็งที่ละลายไปแล้วกลับคืนมาได้

นักวิทยาศาสตร์ชาวเนปาลท่านนี้บอกว่า มีการสังเกตุเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 33 ปีก่อนพร้อมกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นแต่ตอนนั้นยังไม่เห็นการละลายของน้ำแข็งชัดเจน จนการศึกษาครั้งต่อมาในยี่สิบปีให้หลัง ทีมงานสังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มมีการศึกษาการละลายของน้ำแข็งมากขึ้น โดยขยายจากหิมาลัยตอนกลางไปถึงหิมาลัยทางตะวันออกด้วย

ประชาชนในท้องถิ่นที่เนปาล ทิเบต อินเดียและจีน เห็นผลกระทบจากการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยตอนกลางและทางฝั่งตะวันออกมาแล้วหลายครั้ง การละลายของน้ำแข็งทำให้เกิดทะเลสาปขึ้นมากมายที่เชิงเขา และเกิดการไหลบ่าของน้ำที่ทะลักออกจากทะเลสาปเหล่านี้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวท้องถิ่น และยังทำให้เกิดดินถล่มด้วย ในเนปาลเมื่อ 12 ปีก่อน น้ำจากทะเลสาปของภูเขาน้ำแข็งทะลักและไหลท่วมบ้านเรือนทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 400 รายทีเดียว นอกจากนี้ในระยะยาวแล้วการละลายหายไปของน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยยังมีผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

ศาสตราจารย์เชษฐาบอกว่า ในเนปาล การเกษตรกรรมเริ่มได้รับผลกระทบเพราะแหล่งน้ำที่มาจากภูเขาน้ำแข็งจะหดหายไปเรื่อยๆ ในอนาคต อุณหภูมิท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น ร้อนมากขึ้นและหนาวน้อยลง ทำให้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนประเภทของพืชที่จะปลูกให้เข้ากับอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางสุขภาพด้วย เพราะเริ่มมียุงชุกชุมขึ้นเนื่องจากอากาศอุ่นขึ้น ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ ในประเทศ

ศาสตราจารย์เชษฐา บอกว่า ปัญหาโลกร้อนที่สร้างให้เกิดอุทกภัยทางธรรมชาติ มักจะกระทบรุนแรงต่อประชาชนในชาติด้อยพัฒนา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับปัญหา

ส่วนในอินเดีย การละลายหายไปของน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยเพราะโลกร้อน เกิดผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำคงคาที่จะลดลงถึง 2 ใน 3 ในช่วงเดือนกรกฏาคมจนถึงเดือนกันยายน ทำให้เกิดปัญหาน้ำขาดแคลน กระทบต่อประชากรราว 500 ล้านคนและพื้นที่ชลประทานถึง 37 เปอร์เซนของอินเดีย

อย่างไรก็ดี เขาถือว่าการประกาศความร่วมมือของชาติต่างๆ ในการประชุมจี 8 ในการแก้ปัญหาบรรยากาศโลกร้อนเป็นข่าวดี แต่ได้แสดงความเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของโลกร้อนสูงมากจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลงให้ได้มากขึ้นให้ได้ เพื่อช่วยลดระดับผลกระทบต่อธรรมชาติและช่วยชลอการละลายของน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยลงมาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย