การโหมโฆษณาของธุรกิจนมผงในฟิลิปปินส์   ทำให้คนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันน้อยลง

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของฟิลิปปินส์บอกว่า การโหมโฆษณาอย่างหนักของธุรกิจนมผง ซึ่งมุ่งเป้าไปที่สตรีที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 1 ปีนั้น ทำให้คุณแม่หลายคนเชื่อว่านมผงดีกว่านมแม่ และทางการฟิลิปปินส์ต้องการขยายมาตรการการควบคุมการโฆษณาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้จำกัดอยู่ที่คุณแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ให้ครอบคลุมไปถึงคุณแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบด้วย

นายอเล็กซานเดอร์ พาเดียล่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นระหว่างสาธารณสุขกับการค้า และกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์พยายามที่จะควบคุมข้มมูลบนป้ายฉลาก รวมทั้งมาตรการด้านการตลาดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณาให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพราการโฆษณาของธุรกิจนมผงนั้น มักทำให้เชื่อว่า เด็กที่กินนมผงมักจะฉลาด และมีสุขภาพดีกว่าเด็กที่กินนมแม่

อย่างไรก็ตามธุรกิจนมผงในฟิลิปปินส์ได้คัดค้านเรื่องนี้ และศาลฎีกาของฟิลิปปินส์มีคำสั่งให้ระงับการใช้กฏใหม่นี้ไปก่อน จนถึงสิ้นปี เมื่อปีที่แล้วธุรกิจนมผงในฟิลิปปินส์มียอดขาย 450 ล้านดอลล่าร์ แต่ใช้เงินราว 100 ล้านดอลล่าร์เพื่อการโฆษณา อันเป็นตัวเลขเกือนครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งปีของกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ที่ 239 ล้านดอลล่าร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบอกว่านมแม่นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเด็กเล็ก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพราะน้ำสะอาดที่จะใช้ชงนมนั้นหายาก หรือมีราคาแพง และนมแม่ยังช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อโรคหลายอย่างให้กับเด็กด้วย

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าในช่วง 6 เดือนแรกนั้น คุณแม่ควรให้ลูกกินนมตัวเองเท่านั้นเอง และค่อยๆ ผสมหรือสลับระหว่างนมแม่กับอาหารชนิดอื่นจนเด็กมีอายุ 2 ขวบ แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป คือการที่สตรต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น และการที่ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่ทั้งหลายให้ลูกกินนมตัวเองน้อยลง

เมื่อปีที่แล้วมีคุณแม่ในฟิลิปปินส์เพียง 16 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ให้ลูกกินนมตัวเองจนอายุได้ 6 เดือน และถ้าหันไปมองดูในประเทศอื่นๆ ของเอเชีย อัตราการกินนมแม่ของเด็กในอินโดนีเซียนั้น ลดลงจาก 42 เปอร์เซนต์ เหลือ 39 เปอร์เซนต์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนในเวียตนาม เด็กอ่อนที่กินนมแม่ก็ลดลงจาก 27 เปอร์เซนต์เมื่อปี 2540 เหลือ 19 เปอร์เซนต์ในปี 2545 และสำหรับในเมืองไทยเองนั้น มีอัตราเด็กที่ทานนมแม่โดยตรงในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตต่ำที่สุด คืออยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซนต์