กลุ่มนักถักนิตติ้งชายในนครนิวยอร์กที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติการเหมารวมทางเพศของสังคมด้วยการเย็บปักถักร้อยในที่สาธารณะ เหมือนกับนักถักนิตติ้งจำนวนมากที่พบว่า งานอดิเรกชนิดนี้ช่วยให้จิตใจสงบและช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย
นักถักนิตติ้งชายที่ว่านี้มาจากหลากหลายวงการ มีภูมิหลังและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมาก โดยมีตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ และศิลปิน ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มถักนิตติ้งเล็ก ๆ ที่สนิทสนมกันมาก
เจค็อบ ไซเฟิร์ท (Jacob Seifert) บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ Soho Publishing Company ซึ่งใช้การถักนิตติ้งเป็นพื้นที่การแสดงความคิดสร้างสรรค์และงานอดิเรก เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักถักที่กำลังเสื้อกันหนาวอยู่ เล่าให้ ผู้สื่อข่าวฟังว่า ทำไมถึงตัดสินใจเลือกงานหัตถกรรมนี้
ไซเฟิร์ท เล่าว่า จู่ ๆ วันหนึ่งในฤดูหนาว ตนเกิดความรู้สึกต้องการ ‘จะเรียนรู้งานอดิเรกของคุณปู่คุณย่า’ โดยคิดว่า จะเรียนงานแกะสลักและงานถักนิตติ้ง แต่หลังทำมีดบาดนิ้วตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ในช่วงฝึกงานแกะสลักเลยเลิก และหันมาเน้นการถักนิตติ้ง ซึ่งในช่วงแรกก็ไม่ได้คาดหวังว่า จะสนุกแบบนี้
ไซเฟิร์ทและผู้ที่ชอบการถักนิตติ้งจำนวนหนึ่งจะมารวมตัวกันที่ร้านถักนิตติ้งแห่งหนึ่งในเขตแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก สัปดาห์ละครั้ง เพื่อพบปะ พูดคุยและถักงานของตน
หนึ่งในนักถักมือสมัครเล่นที่มารวมกลุ่มคือ สเตฟานัส แอ็กซ์แนนดา (Stephanus Axnanda) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเคมีที่เพิ่งเริ่มหักถักนิตติ้งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ทำให้เพื่อน ๆ นักถักของเขาทึ่งไปกับทักษะและลวดลายที่ยาก ๆ ที่มือใหม่มักไม่ถนัด
แอ็กซ์แนนดา ซึ่งต้องใช้เวลาขับรถสองชั่วโมงจากบ้านที่อยู่แถบชานเมืองนิวยอร์กมาที่ร้านนี้ทุกสัปดาห์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับตัวเขาแล้ว “การถักนิตติ้งเหมือนเป็นการบำบัด ช่วยทำให้สมองสงบลงได้”
ส่วน หลุยส์ โลเปซ เปรซิอาโด (Luis Loez-Preciado) ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก Lasell University ถักนิตติ้งมาประมาณแปดปีแล้ว และกล่าวว่า “เพื่อนสนิทของผมมีลูกอายุหกเดือน และผมกำลังถักเสื้อคลุมตัวนี้ให้ลูกของเขา แต่เพื่อนยืนยันว่า เสื้อมันเล็กเกินไป แม้ว่า ผมเชื่อว่า คอเสื้อกว้างพอสำหรับหัวเด็กได้ก็ตาม”
แกรนท์ รอดเจอร์ เคมพ์ (Grant-Rodgers Kemp) นักวิจัยทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล Mount Sinai เป็นสมาชิกกลุ่มอีกคนที่มีเหตุผลมากมายหลายประการที่เลือกมาถักนิตติ้ง โดยบอกว่า เขาถักงานออกมามากมายหลายชิ้น ทั้งให้ตัวเอง และให้เพื่อน ๆ ด้วย ขณะที่ เอฟวาน คูพแมน (Evan Koopman) นักออกแบบตกแต่งภายใน บอกว่า ตนหลงใหลการถักนิตติ้งมาตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบแล้ว
คูพแมน กล่าวว่า เสื้อตัวที่เขาใส่อยู่ก็เป็นฝีมือการถักด้วยตัวเอง โดยไม่ได้ดูแพทเทิร์นเลย และ “มันไหลออกมาเองจากสมองเอง” พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมา ทุก ๆ ความสำเร็จก็มีความล้มเหลวปะปนอยู่บ้างเล็กน้อยด้วย
คูพแมน บอกด้วยว่า ตนถักนิตติ้งทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟใต้ดิน เพราะเขามีความสุขที่ได้เห็นปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่องานอดิเรกของเขา ซึ่งหลาย ๆ คนคิดว่า การที่เขาถักนิตติ้งจะต้องเป็นเพราะต้องการประหยัดเงินเนื่องจากประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาก็แย้งว่า “ไม่ใช่เลย การถักนิตติ้งนั้นเป็นงานอดิเรกที่แพงที่สุดต่างหาก!'”
สรุปว่า ถ้าเราจะลองแอบไปมองดูว่า กระเป๋าใบโต ๆ ของชาวชาวอเมริกันเหล่านี้มีอะไรอยู่บ้าง ก็คงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า พวกเขาพกไหมจำนวนมากมาย ไม้ถักนับสิบ ๆ เล่ม และนิตยสารว่าด้วยแพทเทิร์นการถักลวดลายต่าง ๆ ไว้พร้อมใช้งานเสมอนั่นเอง
- ที่มา: วีโอเอ