"ลูกแพร์ vs ลูกแอปเปิ้ล" ผลศึกษาระบุลักษณะรอบเอวบ่งบอกโอกาสเกิดโรคได้

ผลการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่าขนาดรอบเอวน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสการเกิดโรคหัวใจได้ดีกว่าดัชนีมวลกายหรือ BMI

Your browser doesn’t support HTML5

Waistline vs BMI

ในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ประจำปี 2016 ที่มหาวิทยาลัย American College of Cardiology ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์ด้านโรคหัวใจ Intermountain Medical Center Heart Institute ในเมือง Salt Lake City กับโรงพยาบาล Johns Hopkins Hospital ในเมือง Baltimore เปิดเผยว่า

การมีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ลหรือมีไขมันรอบเอวหนา เป็นตัวชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจร้ายแรงในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 ที่ยังไม่แสดงอาการของโรคหัวใจ

ส่วนการมีรูปร่างเหมือนลูกแพร์ คือมีไขมันในบริเวณสะโพกมากไม่เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะเกิดโรคหัวใจ

ทีมนักวิจัยทีมนี้ชี้ว่าคนที่มีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ล มักเริ่มมีระดับความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีไขมันคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ตลอดจนเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและหัวใจล้มเหลว

รายงานชี้ว่า การสั่งสมเพิ่มขึ้นของไขมันในบริเวณรอบเอวอาจจะเกิดจากความบกพร่องในระบบเผาผลาญอาหารในร่างกาย

ด็อกเตอร์ Brent Muhlestein หัวหน้าการวิจัยจากสถาบันการแพทย์ด้านโรคหัวใจ Intermountain Medical Center Heart Institute ในเมือง Salt Lake City กล่าวว่า การศึกษานี้ช่วยยืนยันว่าการมีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ล หรือการมีขนาดรอบเอวที่ใหญ่ อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและการลดขนาดรอบเอวลงจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้

ในการศึกษานี้ นักวิจัยศึกษาผู้ป่วยเบาหวานทั้งชายและหญิง 200 คนซึ่งไม่เเสดงอาการที่ส่อว่าเป็นโรคหัวใจ

ผู้ป่วยเบาหวานในการศึกษาเข้ารับการตรวจร่างกายแบบ CT สแกน เพื่อวัดระดับการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจที่ปั้มเลือดที่มีอ็อกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย การทำงานที่ด้อยกว่าปกติของหัวใจห้องล่างซ้ายนี้ จะทำให้เลือดคั่งในบริเวณปอดทั้่งสองข้างและในขา มักนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวและเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายฉับพลัน

ผลการศึกษาวิจัยที่พบนี้ชี้ว่า ไขมันรอบเอวที่หนาขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกับการทำงานที่ไม่ปกติของหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของโรคหัวใจ รวมทั้งหัวใจวาย โดยการศึกษานี้ไม่นำเอาระดับดัชนีมวลกายเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย

ด็อกเตอร์ Brent Muhlestein กล่าวว่าทีมนักวิจัยของเขายังศึกษาผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยเเล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ และพบว่ารูปร่างของคนเราเป็นตัวช่วยยืนยันได้ว่าคุณเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานบกพร่อง

ทีมนักวิจัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่าคนอย่างน้อย 1 ใน 3 คนทั่วโลกจะเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โดย 1 ใน 3 ของคนเหล่านี้จะเสียชีวิตจากหัวใจวาย หรือจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจก่อนหน้าที่จะได้รับการวินิจฉัยโรค

ด้านด็อกเตอร์ Boaz D. Rosen แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล Johns Hopkins Hospital กล่าวว่า ทีมวิจัยพบว่าขนาดของรอบเอวเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุด ถึงความผิดปกติของการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย ดีกว่าน้ำหนักตัวหรือดัชนีมวลกายเสียอีก

ด็อกเตอร์ Rosen กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อดูว่าผู้ป่วยในการศึกษาครั้งนี้เกิดความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคหัวใจอื่นๆ จริงตามที่คาดคิดหรือไม่

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)