ผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ ยกเลิกการจำหน่ายสินค้าต้องสงสัยละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน

Demonstrators supporting Tibetans, Uyghurs and Hong Kongers take part in a protest against the Chinese Communist Party to coincide with the 72nd National Day of the People's Republic of China in London, Oct. 1, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


ผู้ค้าปลีกชั้นนำของสหรัฐฯ 3 รายประกาศยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านงานระบบเฝ้าระวังภัย 2 แห่ง หลังมีรายงานว่า ทั้งคู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงของจีน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลาม

รายงานจากสื่อออนไลน์ TechCrunch ของสหรัฐฯ และเว็บไซต์ข่าว IPMW ระบุว่า บริษัท BestBuy บริษัท Home Depot และบริษัท Lowe ประกาศยกเลิกสัญญาทำธุรกิจกับบริษัท Lorex และบริษัท Ezviz ซึ่งสื่อทั้งสองแห่งทำรายงานเจาะประเด็นและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของทั้งคู่กับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน

Home Depot ระบุในอีเมล์ที่ส่งถึง วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ทางบริษัทระงับการจำหน่ายสินค้าจากทั้ง Lorex และ Ezviz ทันทีที่รับทราบถึงปัญหาความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในจีน เพื่อแสดงถึงการยึดมั่นตามสัญญาของบริษัทที่จะรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมขั้นสูงสุดในการจัดหาสินค้าต่างๆ

ส่วน BestBuy นั้น ไม่ได้ติดต่อกลับมายัง วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ที่ได้สอบถามกรณีดังกล่าวไป แต่บริษัทแห่งนี้ได้แจ้งกับ TechCrunch ว่า ตน “ได้ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” กับทั้ง Lorex และ Ezviz เช่นกัน

บริษัทเทคโนโลยี Lorex นั้นเป็นบริษัทลูกของบริษัท Dahua Technology ซึ่งเป็นธุรกิจที่รัฐบาลจีนถือหุ้นบางส่วนอยู่ ขณะที่ บริษัท Ezviz นั้นเป็นธุรกิจกล้องวงจรปิดที่มีบริษัท Hikvision ของทางการจีนเป็นเจ้าของอยู่ โดยทั้งคู่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นชื่อในบัญชีดำเมื่อปี ค.ศ. 2019 จากกรณีการจัดหาเทคโนโลยีต่างๆ ให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งเพื่อสอดส่องเฝ้าระวังชนกลุ่มน้อยในประเทศ

แต่เนื่องจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่วอชิงตันประกาศใช้ต่อทั้งสองบริษัทเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผลเฉพาะกับการขายสินค้าให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ Lorex และ Ezviz จึงยังสามารถจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนให้กับบริษัทเอกชนทั้งหลายได้ต่อไป

ทั้งนี้ รายงานโดยกลุ่มฮิวแมนไรทส์วอท์ช (Human Rights Watch) เปิดเผยว่า สำนักความมั่นคงสาธารณะของมณฑลซินเจียง ใช้ระบบเทคโนโลยีที่ชื่อ Integrated Joint Operations Platform ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนผ่านการสแกนม่านตา กล่องดิจิทัลที่มีระบบจดจำใบหน้า และตัวอย่างดีเอ็นเอ รวมทั้งข้อมูลการใช้โทรศัทพ์มือถือด้วย

ขณะเดียว รายงานหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนรายประเทศประจำปี ค.ศ. 2020 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า Hikvision และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ของจีน มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ “เตือนภัยอุยกูร์” (Uyghur alarm) ด้วยการใช้ระบบกล้องสแกนภาพใบหน้าด้วย พร้อมชี้ว่า รัฐบาลจีนทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวอุยกูร์ ด้วยการควบคุมตัวชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวมุสลิมกว่า 1 ล้านคน ในค่ายกักกัน และยังจับผู้คนราว 2 ล้านคนเข้าโปรแกรมปรับทัศนคติ เป็นต้น

แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และย้ำว่า ค่ายดังกล่าวในมณฑลซินเจียงนั้นเป็นสถานที่เพื่อปรับความรู้ ที่มีจุดประสงค์ในการช่วยรับมือกับเหตุก่อการร้าย เพราะชาวอุยกูร์นั้นเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดหัวรุนแรงและแบ่งแยกดินแดน