ปธน.ไบเดน สั่งปรับเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยขึ้น 4 เท่า

President Joe Biden speaks at Tidewater Community College, May 3, 2021, in Portsmouth, Virginia.

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยที่สหรัฐฯ จะรับเข้าประเทศในปีนี้ อีก 4 เท่า หลังจากตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านนี้เมื่อไม่นานมานี้

ปธน.ไบเดน ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า ตนได้ปรับเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยที่สหรัฐฯ จะยอมรับในแต่ละปี ให้มีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 62,500 คนในปีนี้ เทียบกับจำนวน 15,000 คนที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งไว้ ที่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของอเมริกาในฐานะประเทศที่เปิดรับและสนับสนุนผู้ลี้ภัยแม้แต่น้อย

ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันยังระบุด้วยว่า เพดานรับผู้ลี้ภัยใหม่นี้จะดำเนินไปพร้อมๆ กับการเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการต้อนรับผู้ลี้ภัย เพื่อให้ไปถึงเป้าปีละ 125,000 คนในปีงบประมาณหน้าดังที่ตนตั้งไว้

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทำเนียบขาวประกาศว่า รัฐบาลจะคงเพดานการรับผู้ลี้ภัยไว้ที่ 15,000 คน แม้ว่า ปธน.ไบเดนจะเคยสัญญาหลังพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมว่า จะทำการขยายโครงการรับผู้ลี้ภัยนี้ให้ได้ จนทำให้สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเดโมแครตจำนวนหนึ่งและนักเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้ลี้ภัยหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของรัฐบาลชุดนี้ทันที

ในแถลงการณ์ล่าสุดนี้ ปธน.ไบเดน กล่าวว่า การดำเนินการเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยในครั้งนี้คือก้าวสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่ประสบเคราะห์กรรมแสนสาหัสได้อุ่นใจว่า ยังมีความหวังที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แม้ว่า ในความเป็นจริงนั้น สหรัฐฯ จะไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยได้มากถึง 62,500 คนในปีงบประมาณปัจจุบันก็ตาม แต่รัฐบาลจะทำทุกอย่างโดยเร็วเพื่อแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีก่อน

World Press Freedom Day

ต่อมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืนของนโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐบาล ด้วยการระบุว่า การเปิดประตูรับผู้ที่ต้องการลี้ภัย คือดีเอ็นเอของสหรัฐฯ และการปฏิบัติต่อทุกคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือผ่านโครงการนี้ ด้วยความเป็นธรรม และความเคารพในศักดิ์ศรีของบุคคลเหล่านี้ คือสิ่งที่จำเป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย

เอริค พี ชวาทซ์ ประธานกลุ่ม Refugee International แสดงความชื่นชมต่อแถลงการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เปรียบเทียบได้ว่าเป็น “ช่วงเวลาอันเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภูมิใจ” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั่วโลกยังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพราะการต้อนรับผู้ลี้ภัยเข้ามานั้น นอกจากจะตอกย้ำความมีศีลธรรมของสหรัฐฯ แล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนต่างๆ ด้วย

อเล็กซ์ นาวราสเตห์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษานโยบายตรวจคนเข้าเมือง แห่ง สถาบันเคโต (Cato Institute) ให้ความเห็นว่า นโยบายใหม่ที่มีออกมาช้าไปนี้ ไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายสำหรับปีนี้ และหากสหรัฐฯ สามารถรับผู้ลี้ภัยได้ถึง 1 ใน 4 ของ เพดาน 62,500 คน ก็ถือว่าโชคดีแล้ว

Immigration-Border Crossings

นาวราสเตห์ บอกกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือ “การปฏิรูป การขยาย และการแปรสภาพระบบจัดการผู้ลี้ภัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” เพื่อที่ว่ารัฐบาลชุดต่อไป ที่มีจุดยืนเหมือนกับรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก

ขณะเดียวกัน สก็อตต์ ดีจาร์เลส์ สมาชิกสภาล่างสังกัดพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า การที่ปธน.ไบเดน กลับลำจากที่เคยประกาศจะคงนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนไว้ว่าเป็น “ภัยโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยต่อระบบสาธารณสุข”