เหตุปิด ‘คลองสุเอซ’ ดันอัตราค่าขนส่งทางเรือพุ่ง-ผลักเรือขนส่งน้ำมันใช้เส้นทางอื่น

This handout satellite image courtesy of Cnes 2021 released on March 25, 2021, by Airbus DS shows the Taiwan-owned MV Ever Given container ship lodged sideways across the waterway of Egypt's Suez Canal.

ปัญหาการปิดคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ตั้งแต่วันอังคาร จากกรณีที่เรือขนส่งขนาดยักษ์ Ever Given เกยฝั่งและลอยลำขวางคลองนั้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการขนส่งสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันและก๊าซ พุ่งสูงเกือบสองเท่าแล้ว ขณะที่ เรือจำนวนมากต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือไปทางอื่นแทน

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องยังเดินหน้าหาทางผลักดันเรือที่มีความยาวถึง 400 เมตรลำนี้ให้ลอยลำในทิศทางของลำน้ำอยู่นี้ บริษัท โชเออิ คิเซน ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวว่า ทางบริษัทตั้งใจจะดันเรือออกจากสภาพเกยฝั่งและขวางคลองให้ได้ภายในวันเสาร์

ทั้งนี้ การปิดคลองที่เชื่อมต่อยุโรปและเอเชียนี้ กลายมาเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้เรือขนส่งทั้งหลายมีปัญหาหนักกว่าเดิม ที่มีเรื่องของความล่าช้าและการขาดตอนของการนำส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลก

นักวิเคราะห์คาดว่า เรือขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะสำหรับการส่งจากยุโรปไปเอเชีย น่าจะเผชิญกับผลกระทบที่หนักขึ้นในเร็วๆ นี้ หากคลองสุเอซต้องปิดต่อไปอีกหลายสัปดาห์

โดยปกติ เชื้อเพลิงที่ขนส่งทางเรือ คือต้นทุนก้อนโตที่สุดของธุรกิจ โดยมีสัดส่วนสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดน้ำมันในเอเชียที่มีสภาพอ่อนตัวอยู่อาจจะประสบปัญหาหนักขึ้น จากเหตุการณ์ล่าสุดนี้ เนื่องจาก เอเชียส่งออกน้ำมันจำพวกดีเซลไปตลาดซีกโลกตะวันตก เช่น ยุโรป อยู่ โดยข้อมูลจาก บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจพลังงาน FGE ชี้ว่า ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกน้ำมันนี้เดินทางผ่านคลองสุเอซในปีที่ผ่านมา

ในเวลานี้ มีเรือขนส่งนับร้อยลำรอคอยที่จะแล่นผ่านคลองเส้นนี้อยู่จากทั้งฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง โดยรายข่าวระบุว่า เป็นเรือขนส่งน้ำมันถึงกว่า 30 ลำ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ความรุนแรงของผลกระทบจากการขนส่งที่ล่าช้าต่อตลาดพลังงานโลกน่าจะไม่ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เริ่มลดลงในช่วงนี้