สามคนดังจับมือร่วมโครงการสำรวจอวกาศด้วยยานอวกาศขนาดเล็กเท่าชิพคอมพิวเตอร์

Yuri Milner and Stephen Hawking

สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง, ยูริ มิลเนอร์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประกาศความร่วมมือในโครงการ Breakthrough Spaceshot

Your browser doesn’t support HTML5

Space Exporation

นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ยูริ มิลเนอร์ และผู้ก่อตั้งเฟสบุ้ค มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประกาศความร่วมมือในโครงการสำรวจอวกาศ เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตในห้วงจักรวาล ด้วยยานอวกาศขนาดจิ๋วพอๆกับชิพคอมพิวเตอร์

มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ยูริ มิลเนอร์ เป็นผู้ให้เงินทุน 100 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการสำรวจอวกาศที่มีชื่อว่า Breakthrough Spaceshot เพื่อพัฒนาฝูงหุ่นยนต์ยานอวกาศ ขนาดเล็กพอๆกับชิพคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งไปสำรวจกลุ่มดาวที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะจักรวาลของเรา ชื่อว่ากลุ่มดาว Alpha Centauri และส่งข้อมูลกลับมายังโลกภายในช่วงเวลาหนึ่งอายุคน

ยูริ มิลเนอร์ ประกาศโครงการนี้ในการประชุมแถลงข่าวที่นครนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร และได้นำต้นแบบยานอวกาศจิ๋วมาแสดง โดยมีขนาดพอๆกับชิพคอมพิวเตอร์และหนักเพียงไม่กี่กรัม ภายในบรรจุกล้องถ่ายรูป ตัวขับเคลื่อนพลังงานโฟตอน ตัวกักเก็บพลังงาน ระบบนำทาง และอุปกรณ์สื่อสาร

มิลเนอร์บอกว่ายานอวกาศขนาดเท่าแสตมป์นี้มีราคาพอๆกับโทรศัพท์มือถือไอโฟน โดยจะติดตั้งใบเรือน้ำหนักเบา และใช้แรงขับเคลื่อนจากกลุ่มแสงเลเซอร์พลังงานสูง เพื่อให้เดินทางในอวกาศได้ไกลกว่ายานอวกาศแบบอื่นๆที่เคยมีมา ซึ่งนักประดิษฐ์เรียกยานนี้ว่า Nanocraft

Internet investor and science philanthropist Yuri Milner, left, and renowned cosmologist Stephen Hawking, right, seated in a speech adaptive wheelchair, discuss the new Breakthrough Initiative focusing on space exploration and the search for life in the u

ตั้งแต่อดีต มนุษย์เรารับรู้เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลกหรือมนุษย์ต่างดาว ผ่านภาพยนตร์ นิยาย หรือการ์ตูนต่างๆ แต่น้อยคนที่จะเชื่อว่าเรามีโอกาสที่จะพบเจอสิ่งมีชีวิตนอกโลกจริงๆ ภายในช่วงอายุของเรา

อย่างไรก็ตาม นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง มองในแง่ดีว่า ระยะทางระหว่างโลกกับกลุ่มดาว Alpha Centauri ซึ่งไกลประมาณ 40 ล้านล้านกิโลเมตรนั้น อาจสามารถเดินทางไปถึงได้ภายในหนึ่งชั่วอายุคน

ศาสตราจารย์ฮอว์กกิ้งเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ คือความสามารถในการเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งนั่นทำให้ตนนั่งเครื่องบินไปถึงอเมริกาได้ แม้จะมีแรงโน้มถ่วงของโลกคอยดึงเราให้อยู่ติดกับพื้นดิน

ด้านนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ฟรีแมน ดายสัน เชื่อว่าโอกาสที่เดินทางไปถึงกลุ่มดาวอื่นนั้น มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากระหว่างกลุ่มดาวต่างๆ ใช่ว่าจะมีแต่ความเวิ้งว้าง แต่ยังมีวัตถุต่างๆ อีกมากมายที่อยู่ระหว่างกลาง

นักวิทยาศาสตร์อเมริกันผู้นี้เชื่อว่า ยานดังกล่าวมีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุขนาดเล็กอื่นๆในอวกาศ มากกว่าจะพบบนดาวเคราะห์ที่เป็นจุดหมายปลายทาง

ถึงกระนั้นอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปี กว่าที่โครงการนี้จะเริ่มปล่อย Nanocraft ออกจากพื้นโลก บวกกับเวลาอีกราว 20 ปี ในการเดินทางไปถึงดาวเคราะห์หรือวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ และอีกอย่างน้อย 4 ปีในการส่งข้อมูลกลับมายังโลก

จึงอาจกล่าวได้ว่าอีกราวครึ่งศตวรรษ เราจึงจะสามารถทราบได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ในกลุ่มดาว Alpha Centauri ที่อยู่ติดกับกลุ่มดาวของเราหรือไม่? นอกเสียจากว่าจะมีเทคโนโลยีด้านอวกาศที่ก้าวล้ำนำหน้ากว่าที่มีอยู่ เกิดขึ้นในช่วง 50 ปีจากนี้

(ผู้สื่อข่าว Zlatica Hoke รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)