การรักษาแบบใหม่อาจช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตสามารถยืนหรือเดินได้อีกครั้ง

Researchers at the Mayo Clinic placed an electronic device near the injury to Chinnock's spinal cord. (Mayo Clinic)

นักวิจัยสหรัฐฯ เผยความคืบหน้าการช่วยผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลังให้สามารถกลับมายืนได้ แม้ว่าจะต้องมีขั้นตอนมากมายก็ตาม

รายงานเกี่ยวกับการบำบัดรักษาแบบใหม่นี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine และวารสาร Nature Medicine เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยทางการแพทย์ 2 ทีม ค้นพบว่าการฝังกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นเส้นประสาทไขสันหลัง ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาต 3 คนสามารถยืน และเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ ในขณะที่เกาะเครื่องช่วยเดินไว้ หรือเวลาที่มีคนช่วยพยุงอยู่ข้างหลัง

ผู้ป่วยรายหนึ่งสามารถเดินได้ไกลในระยะทางเท่ากับความยาวของสนามฟุตบอลทีเดียว

ศาสตราจารย์ Susan Harkema จากมหาวิทยาลัย Louisville กล่าวว่า การฟื้นตัวของผู้ป่วยนั้นจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม และว่าไขสันหลังของคนเราสามารถเรียนรู้การทำสิ่งต่างๆ ใหม่ได้อีกครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่า ไขสันหลังที่มีอาการบาดเจ็บ จะไม่สามารถสั่งงานไปยังเส้นประสาทที่กระตุ้นกล้ามเนื้อได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่า เส้นประสาทเหล่านี้ยังใช้งานได้อยู่ เพียงแต่หยุดการทำงานไปชั่วคราวเท่านั้นเอง

ดังนั้น การกระตุ้นไขสันหลังด้วยกระแสไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพร่างการแบบจริงจัง อาจช่วยปลุกระบบประสาทเหล่านั้นขึ้นมาให้สามารถรับคำสั่งได้อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ มีการทดลองรักษาด้วยการกระตุ้นกระแสไฟฟ้ามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถยืนและขยับนิ้วเท้าได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้

นักวิจัยจึงเตือนว่า การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ใช่การรักษาโรคอัมพาต และอาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้