เมียนมายังเดือด! ประกาศใช้กฎอัยการศึกเพิ่มหลายพื้นที่ในย่างกุ้ง

Protesters run from tear gas fired by security forces, as some demonstrators also let off fire extinguishers, next to a barricade set up during the demonstration against the military coup in Mandalay, March 15, 2021.

กองทัพเมียนมาประกาศใช้กฎอัยการศึกเพิ่มในหลายพื้นที่ของนครย่างกุ้งในวันจันทร์ ท่ามกลางรายงานตัวเลขผู้ประท้วงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สื่อของทางการเมียนมา MRTV รายงานว่า ทหารเมียนมาได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตดากองเหนือและใต้ เขตดากองสิกกาน และเขตออกกะลาปาเหนือ หนึ่งวันหลังจากที่มีรายงานกองกำลังความมั่นคงเมียนมายิงสังหารผู้ประท้วงอย่างน้อย 40 คนทั่วประเทศ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเขตไลง์ตายา ในย่างกุ้ง ถือเป็นวันที่มีการนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

เมื่อวันอาทิตย์ ทางการเมียนมาประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตไลง์ตายาซึ่งเป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรมชานเมืองย่างกุ้ง หลังจากมีโรงงานทอผ้าสองแห่งของจีนถูกจุดไฟเผา และมีรายงานผู้ประท้วงถูกสังหารมากกว่า 30 คน ตามรายงานของรอยเตอร์

SEE ALSO: เมียนมาประกาศใช้กฎอัยการศึกในย่างกุ้ง หลังมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 39 ราย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว หลี่เจียน กล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานจีนในเมียนมาว่า “การเผาและปล้นบริษัทจีนดังกล่าวเป็นเรื่องน่าชิงชัง และหวังว่าทางการเมียนมาจะใช้มาตรการที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องความปลอดภัยของพลเมืองชาวจีนในเมียนมา” และว่า “ภารกิจสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดครั้งใหม่ และบรรเทาความตึงเครียดของสถานการณ์ในเมียนมาให้เร็วที่สุด”

สมาคมเพื่อความช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners – AAPP) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 44 คนทั่วประเทศจากการปราบปรามของทหารและตำรวจเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหาร

AAPP ระบุว่า มีประชาชนถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 126 คนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. และถูกจับกุมไปแล้วมากกว่า 2,150 คน ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัวราว 300 คน

Myanmar, Mandalay, People pull out Shell Ye Win 24 who was shot during the security force crack down on anti-coup protesters

คริสทีน ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา มีแถลงการณ์ประณามการสังหารประชาชนเมื่อวันอาทิตย์ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกและประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ร่วมยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนเมียนมาเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา

ขณะเดียวกัน ทนายความของนางออง ซาน ซูจี เปิดเผยในวันจันทร์ว่า กำหนดการขึ้นให้การต่อศาลของนางซูจีผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ต้องถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถูกปิดกั้น โดยนางซูจีถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. และถูกฟ้องร้องหลายข้อหา รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าเธอรับสินบนมูลค่า 600,000 ดอลลาร์และทองคำแท่งอีกจำนวนหนึ่ง ข้อหาครอบครองอุปกรณ์สื่อสารอย่างผิดกฎหมาย, ใช้อุปกรณ์สื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต, ละเมิดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และพยายามปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในประเทศ