สาธารณสุขสหรัฐเตรียมทดลองวัคซีนอีโบล่ากับมนุษย์ครั้งแรกสัปดาห์หน้า ตั้งเป้านำมาใช้ปลายปีนี้

Laboratory technicians develop a technology to mass produce Ebola vaccine, August 14, 2014.

Your browser doesn’t support HTML5

Ebola Vaccine

จนท.ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ ประกาศเริ่มโครงการทดลองวัคซีนป้องกันเชื้ออีโบล่ากับมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยวัคซีนดังกล่าวพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ National Institute of Health (NIH) และบริษัทยา GlaxoSmithKline

ดร. Anthony Fauci ผอ.สถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐ ประกาศโครงการทดลองวัคซีนเชื้ออีโบล่ากับมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการทดลองแรกของขั้นที่หนึ่งซึ่งจะมีตามมาอีกหลายครั้ง

ดร. Anthony Fauci ระบุว่าการระบาดของเชื้ออีโบล่าในอาฟริกาตะวันตกในขณะนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องอาศัยการตอบสนองเร่งด่วนจากทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องเร่งกระบวนการทดลองวัคซีนนี้ให้เร็วกว่ากำหนดเดิม ซึ่งหลังจากพิจารณาคัดเลือกวัคซีนต่างๆ ที่เข้าข่ายอย่างละเอียดแล้ว ทางสถาบันฯ ได้ตัดสินใจว่าจะทดลองวัคซีน 3 ชนิดที่เคยมีการศึกษามาแล้วก่อนหน้านี้ว่าน่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้ออีโบล่าได้ โดยชนิดแรกทีชื่อว่า VRC207 ซึ่งจะเริ่มทำการทดลองในสัปดาห์หน้า

ดร. Fauci ระบุว่าการทดลองครั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 20 คนที่มีร่างกายแข็งแรงดี อายุระหว่าง 18-50 ปี โดยการทดลองจะมีขึ้นที่ National Institute of Health (NIH) ที่เมือง Bethesda รัฐแมรี่แลนด์ ไม่ไกลจากกรุงวอชิงตัน การทดลองจะมุ่งเน้นที่การประเมินความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว รวมทั้งประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้ออีโบล่า

ผอ.สถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าวัคซีนที่กำลังจะนำมาทดลองนี้ได้ผลน่าพอใจในการป้องกันการติดต่อของเชื้ออีโบล่าในลิง โดยใช้ไวรัสไข้หวัดที่เกิดกับลิงชิมแพนซีเป็นไวรัสเป้าหมาย เนื่องจากไวรัสชนิดนี้มีลักษณะพันธุกรรมคล้ายกับเชื้อไวรัสอีโบล่าสายพันธุ์ Sudan และ Zaire ซึ่งเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในอาฟริกาตะวันตกขณะนี้

ดร. Fauci ระบุว่ายีนของเชื้ออีโบล่าที่นำมาใช้ในการทดลองนี้จะไม่ทำให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองติดเชื้ออีโบล่าจนเป็นอันตรายต่อชีวิตแต่อย่างใด โดยอาสาสมัครจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับวัคซีนในปริมาณน้อย อีกกลุ่มหนึ่งได้รับในปริมาณมากกว่า

คาดว่ากระบวนการทดลองวัคซีนอีโบล่านี้จะใช้เวลาทั้งหมดราว 48 สัปดาห์ แต่ผลการทดลองในเบื้องต้นน่าจะออกมาภายในช่วงสิ้นปีนี้

ในเดือน ต.ค จะมีการทดลองครั้งที่ 2 ในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ อังกฤษ มาลี และแกมเบีย อย่างไรก็ตาม ดร. Anthony Fauci ระบุส่งท้ายว่า แม้ขณะนี้นักวิจัยกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะพัฒนาวัคซีนโรคอีโบล่าออกมาให้ได้ แต่ปัจจุบันวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของเชื้ออีโบล่า คือมาตรการป้องกันและความระมัดระวัง

รายงานจาก Joe De Capua - ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล