จีนสยายปีกโครงการอวกาศ หลังเก็บหินจากดวงจันทร์สำเร็จ

Researchers work around Chang'e-5 lunar return capsule carrying moon samples next to a Chinese national flag, after it landed in northern China's Inner Mongolia Autonomous Region, December 17, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

China Space Mission


ทันทีที่ยานฉางเอ๋อ-5 กลับสู่โลกโดยสวัสดิภาพเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น พร้อมกับตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ทางการจีนก็ประกาศความพร้อมสำหรับภารกิจอวกาศใหม่อีกมากมาย ที่จะปูทางสู่การจัดตั้งฐานบนดวงจันทร์เพื่อรองรับนักบินอวกาศบนนั้นในอนาคต

หยู หยานหัว รองผู้บัญชาการใหญ่โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน หรือ โครงการฉางเอ๋อ กล่าวหลังความสำเร็จของภารกิจฉางเอ๋อ-5 เมื่อวันพฤหัสบดีว่า จีนมีโครงการสำรวจดวงจันทร์อีก 3 โครงการ ตามด้วยภารกิจเก็บตัวอย่างจากดาวอังคาร โครงการสำรวจดาวเคราะห์น้อย และโครงการสำรวจดาวพฤหัส และว่าการค้นหาความจริงของจักรวาลนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ร่อนลงจอดบริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น พร้อมกับตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ นับเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์มายังโลกครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษ และทำให้จีนเป็นประเทศที่สามของโลกที่ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ หลังจากโครงการสำรวจดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ด้วยว่า ภารกิจฉางเอ๋อ-5 ทำลายขีดจำกัด และแสดงถึงความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอวกาศอันซับซ้อนของจีน

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีน ในนาม “ฉางเอ๋อ” ตั้งตามเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ของจีน ซึ่งที่ผ่านมายานสำรวจฉางเอ๋อลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จมาแล้ว 3 ครั้ง และยานฉางเอ๋อ-5 มีภารกิจสำคัญในการเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์กลับมายังโลก ซึ่งตอนนี้ตัวอย่างจากดวงจันทร์อยู่ในความดูแลของสำนักงานใหญ่องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ที่กรุงปักกิ่งแล้ว

เมื่อปี ค.ศ. 2003 จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่ส่งนักบินอวกาศของประเทศขึ้นสู่ห้องปฏิบัติการอวกาศที่โคจรรอบโลก ตามหลังสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ที่มีโครงการสำรวจอวกาศของตัวเองที่มีเสถียรภาพ นับตั้งแต่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศ ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960

หลังจากความสำเร็จของภารกิจฉางเอ๋อ-5 จีนเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ-6 เพื่อเก็บตัวอย่างบนบริเวณขั้วโลกใต้ดวงจันทร์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า และเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ-7 และ 8 เพื่อลงพื้นที่สำรวจและทดสอบเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการสร้างฐานบนดวงจันทร์ รองรับการส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ต่อไป ซึ่งยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนของโครงการนี้

รองผู้บัญชาการใหญ่โครงการฉางเอ๋อ เพิ่มเติมว่า ภารกิจล่าสุดนี้ได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ ทั้งจากสำนักงานอวกาศยุโรป (European Space Agency) อาร์เจนตินา นามิเบีย ปากีสถาน และอีกหลายประเทศที่ร่วมมือกับจีนในการสื่อสารและติดตามเส้นทางของยานสำรวจนี้ และว่าจีนพร้อมที่จะผลักดันนักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก ให้เข้าร่วมโครงการด้านอวกาศเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมในอนาคต

ทว่า ความร่วมมือของจีนกับนานาชาติอาจปราศจากสหรัฐฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า กฏหมายอเมริกันห้ามให้มีความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA กับทาง CNSA ของจีน จากความกังวลเรื่องข้อมูลความลับและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐฯ เว้นแต่จะได้รับมติเห็นชอบจากสภาสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ในช่วงที่ผ่านมา

ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อ 1 ธันวาคม และเก็บตัวอย่างน้ำหนักราว 2 กิโลกรัม ทั้งจากการเก็บบนพื้นผิวและการขุดเจาะลึกลงไปราว 2 เมตรบนดวงจันทร์ โดยตัวอย่างล่าสุดนี้ เก็บมาจากพื้นที่บนดวงจันทร์ที่เรียกว่า Oceanus Procellarum หรือ มหาสมุทรแห่งพายุ ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณที่เรียกว่า Mons Rumker ที่เชื่อว่าเคยเป็นภูเขาไฟในอดีต คาดว่าจะมีอายุน้อยกว่าชิ้นส่วนตัวอย่างบนดวงจันทร์ ที่สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตเก็บมาได้ ประมาณหลายพันล้านปี ซึ่งอาจให้มุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดวงจันทร์ และดวงดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะ

แบรด โจลิฟฟ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ แมคดอนเนล แห่ง Washington University (St. Louis) ที่มองว่า ช่วงอายุของหินตัวอย่างบนดวงจันทร์อาจช่วยเติมเต็มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดวงจันทร์ ในช่วงระยะ 1,000-3,000 ล้านปีก่อนนี้ได้ รวมทั้งสามารถศึกษาองค์ประกอบทางธรรมชาติบนพื้นผิวดวงจันทร์ต่างๆ เช่นปริมาณไฮโดรเจนและออกซิเจนบนดวงจันทร์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้ยกย่องผลงานของจีนที่พิชิตภารกิจอันยากเย็นนี้ได้ และชิ้นส่วนนี้จะมีความหมายต่อวงการวิทยาศาสตร์ไปอีกนาน

อย่างไรก็ตาม รองผู้บัญชาการใหญ่โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน บอกว่า ทีมวิจัยของสหรัฐฯจะมีโอกาสเข้าถึงชิ้นส่วนของดวงจันทร์ที่เก็บมาได้ล่าสุดนี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของสหรัฐฯเป็นสำคัญ แต่ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนยังคงเปิดรับความร่วมมือกันฉันท์มิตรกับสหรัฐฯ บนพื้นฐานของความเท่าเทียม การเข้าถึงข้อมูลอย่างสันติวิธี ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน