‘แมงป่องท้องผูก-การศึกษาเรื่องรักแรกพบ’ คว้ารางวัล Ig Nobel ปีนี้

Ig Nobels

การศึกษาชีวิตรักของแมงป่องท้องผูก และภาวะรักแรกพบ คว้ารางวัล Ig Nobel ประจำปีนี้ ตามรายงานของเอพี

งานประกาศรางวัล Ig Nobel ครั้งที่ 32 ที่ต้องจัดขึ้นแบบออนไลน์ช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งกลุ่ม Annals of Improbable Research ของมหาวิทยาลัย Harvard มอบ Ig Nobel Prizes แนวขำ ๆ 10 รางวัล เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ และกระตุ้นความคิด ถือว่าเป็นการล้อเลียนรางวัลโนเบล และสร้างสีสันให้กับวงการวิทยาศาสตร์และผู้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง

ผู้ชนะรางวัล Ig Nobel จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว ซึ่งเป็นธนบัตรปลอมทั้งสิ้น

เป็ดน้อยแถวตรง

แฟรงค์ ฟิช อาจารย์ด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัย West Chester University ในเพนซิลเวเนีย คว้าโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากการศึกษาว่าทำไมลูกเป็ดน้อยถึงต่อแถวตามแม่เป็ดเป็นแถวตรง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเป็นการประหยัดพลังงาน คล้าย ๆ กับการต่อเรียงแถวของนักวิ่ง หรือ นักปั่นจักรยานในการแข่งขันทางไกล ขณะที่อาจารย์ฟิชเอง เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาการว่ายน้ำของสัตว์ต่าง ๆ ด้วย โดยเขารับรางวัลร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Strathclyde ในสกอตแลนด์ ซึ่งศึกษาว่าเหล่าลูกเป็ดว่ายน้ำตามแม่เป็ดเป็นแถวเหมือนกัน

จังหวะหัวใจเดียวกัน คือ สัญญาณของรักแรกพบ?

เอลิซกา โปรชาสโควา นักวิจัยเนเธอร์แลนด์ จากมหาวิทยาลัย Leiden University ใช้ประสบการณ์ชีวิตรักส่วนตัวในการทำวิจัยเรื่องการออกเดท ซึ่งทำให้เธอและเพื่อนได้รางวัล Ig Nobel สาขา Applied Radiology ไป โดยเธอพบว่ามันไม่ยากเลยที่จะ swipe right เพื่อหาคนที่ใช่ในการเดทออนไลน์ แต่กลับไม่สปาร์กหัวใจเมื่อได้เจอกันตัวต่อตัว

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเริ่มทำการศึกษาการนัดบอด เพื่อวัดปฏิกิริยาทางร่างกาย และพบว่า อัตราการเต้นของหัวใจคู่เดทที่สนใจกันและกัน จะเต้นไปในจังหวะตรงกัน ซึ่งอาจเป็นหลักฐานการศึกษาเรื่องรักแรกพบก็เป็นได้

โดยโปรชาสโควา บอกว่า “มันก็แล้วแต่ว่าเราจะนิยามคำว่ารักอย่างไร?” และว่า “สิ่งที่ค้นพบในการวิจัยก็คือ ผู้คนจะสามารถเลือกได้ว่าจะเดทใครได้อย่างรวดเร็ว ภายในระยะ 2 วินาทีแรกของการเดท ผู้ร่วมการวิจัยได้ให้แนวคิดที่ซับซ้อนเกี่ยวกับบุคคลที่นั่งอยู่ตรงหน้าพวกเขาแล้ว”

คุณพูดภาษากฎหมายได้ไหม?

ใครก็ตามที่มีโอกาสได้อ่านเงื่อนไขการให้บริการอันยาวเหยียดหลายหน้ากระดาษ จะทราบดีว่าเอกสารทางกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจเหลือเกิน

เช่นเดียวกับ เอริค มาร์ติเนส นักศึกษาปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ทางสมองและการรับรู้ แห่ง Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ที่มีปริญญาด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ดอีกใบ เขาและเพื่อนร่วมวิจัย คว้ารางวัล Ig Nobel สาขาวรรณกรรม จากการวิเคราะห์เอกสารทางกฎหมายที่ยากต่อการทำความเข้าใจทั้งที่ไม่จำเป็นเลย ขณะที่การศึกษาของเขาได้ตีพิมพ์ในวารสาร Cognition ด้วย

มาร์ติเนส ทิ้งท้ายไว้ว่า “ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีความหวังว่าบรรดานักกฎหมายจะคิดถึงใจคนอ่านบ้าง” และว่า “การให้ความกระจ่างแจ้งไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์กับคนทั่วไป แต่ยังเป็นประโยชน์กับเหล่านักกฎหมายเองด้วย”

การหาคู่ของแมงป่องท้องผูก

โซลิมารี การ์เซีย เฮอร์นันเดส และกลาโอโก มาคาโด จากมหาวิทยาลัย University of São Paulo ในบราซิล คว้า Ig Nobel สาขาชีววิทยา ที่ศึกษาภาวะท้องผูกว่าทำลายโอกาสการหาคู่ของแมงป่องหรือไม่ ซึ่งการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Integrated Zoology

ผู้วิจัยศึกษาแมงป่องชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ ที่ต้องยอมสละหางทิ้งไปเพื่อเอาชีวิตรอดจากผู้ล่า หรือที่เรียกว่า กระบวนการสลัดหาง ซึ่งทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของมันได้รับผลกระทบ และทำให้มันต้องท้องผูกไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า แมงป่องจะยังสามารถหาคู่และมีลูกได้ แม้จะไร้หาง เพียงแต่สมรรถภาพอาจลดลงในระยะยาว

  • ที่มา: เอพี