ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ฯ เห็นต่าง ‘เชื้อเพลิงจากพืช’ จะช่วยลดภาวะโลกร้อนหรือทำให้แย่ลง


กราฟฟิกแสดงให้เห็นถึงการที่อุตสาหกรรมการบินใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยื่นที่ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร
กราฟฟิกแสดงให้เห็นถึงการที่อุตสาหกรรมการบินใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยื่นที่ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร

เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นตัวเลือกในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการบิน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายเตือนว่า หากการเดินหน้าผลิตเชื้อเพลิงแบบนี้เกิดขึ้นแบบผิด ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อภาวะโลกร้อนอาจแย่กว่าที่เป็นอยู่ได้

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 บริษัท เวอร์จิน แอตแลนติก (Virgin Atlantic) ใช้เชื้อเพลิง SAF สำหรับการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่ขับเคลื่อนพาหนะด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนทั้งหมด

ฮอลลี บอยด์-โบแลนด์ รองประธานบริษัท เวอร์จิน แอตแลนติก
ฮอลลี บอยด์-โบแลนด์ รองประธานบริษัท เวอร์จิน แอตแลนติก

ฮอลลี บอยด์-โบแลนด์ รองประธานบริษัท เวอร์จิน แอตแลนติก กล่าวว่า “เชื้อเพลิงที่เราใช้อยู่ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 70% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน”

ทั้งนี้ รายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ที่การเดินทางด้วยอากาศยานปล่อยออกมามีสัดส่วนราว 2% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยออกมาทั่วโลก

กราฟฟิกแสดงให้เห็นกระบวนการขุดน้ำมันดิบมาผลิตเชื้อเพลิงเพื่ออุตสาหกรรมการบิน ที่ล้วนก่อนให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
กราฟฟิกแสดงให้เห็นกระบวนการขุดน้ำมันดิบมาผลิตเชื้อเพลิงเพื่ออุตสาหกรรมการบิน ที่ล้วนก่อนให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

เชื้อเพลิง SAF ถูกผลิตจากพืชต่าง ๆ โดยมาจากถั่วเหลืองหรือต้นปาล์มน้ำมันเป็นหลัก แต่ก็สามารถผลิตจากน้ำตาลของข้าวโพดที่ถูกหมักจนเป็นแอลกอฮอล์ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทางเคมีเพื่อเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิง แต่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นมาพร้อมกับปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง

แดน ลาโชฟ จากสถาบัน World Resources Institute (WRI) อธิบายว่า ปัญหาพื้นฐานของเชื้อเพลิงชีวภาพ คือ ต้องใช้พื้นที่จำนวนมหาศาลในการผลิตและหากนำพื้นที่การเกษตรหลักซึ่งใช้ปลูกพืชอาหาร มาใช้ปลูกพืชเพื่อผลิตเชื้อเพลิง เราก็ต้องไปหาแหล่งเพาะปลูกพืชสำหรับอาหารใหม่

กราฟฟิกแสดงให้เห็นการใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตเชื้อเพลิง
กราฟฟิกแสดงให้เห็นการใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตเชื้อเพลิง

นอกจากนั้น หากมีการปลูกพืชเพื่อผลิตเชื้อเพลิงมากขึ้น เกษตรกรอาจเดินเข้าป่าหรือทุ่งหญ้าเพื่อถางให้โล่งมาทำเป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกเพื่อชดเชยที่ ๆ หายไป และนั่นจะยิ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแย่ลงมากกว่าจะดีขึ้น

หลังรัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ลงนามในกฎหมายที่กำหนดให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน หนึ่งในสามของผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ในแต่ละปีถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิง

แต่ผลการประเมินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีการเปิดเผยออกมากลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

กราฟฟิกแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรสำหรับอาหารมาผลิตเชื้อเพลิง
กราฟฟิกแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรสำหรับอาหารมาผลิตเชื้อเพลิง

มาธุ คันนา นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ (University of Illinois) อธิบายว่า “การศึกษาส่วนหนึ่ง พบว่า (เชื้อเพลิงชีวภาพ) เป็นพลังงานที่สะอาดกว่าน้ำมันเบนซิน ประมาณ 30 ถึง 40%” ขณะที่ ผู้เกี่ยวข้องบางรายระบุว่า เชื้อเพลิงชีวภาพจากข้าวโพดและต้นปาล์มน้ำมันแย่พอ ๆ กับ หรืออาจเลวร้ายกว่าน้ำมันเบนซินเสียอีก

แดน ลาโชฟ จากสถาบัน WRI กล่าวว่า รายงานจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency – EPA) ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนมิถุนายน ปี 2023 ระบุว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ชี้ว่า มีความเสี่ยงอย่างแน่นอนที่เชื้อเพลิงชีวภาพจะทำให้สภาพอากาศเลวร้ายลง

กราฟฟิกแสดงให้เห็นระดับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนของสหรัฐฯ และเป้าหมายที่ตั้งไว้
กราฟฟิกแสดงให้เห็นระดับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนของสหรัฐฯ และเป้าหมายที่ตั้งไว้

ในปี 2022 สหรัฐฯ ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพได้ราว 60 ล้านลิตร และตั้งเป้าที่จะผลิตให้ได้สูงถึง 130 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2050 ซึ่งมากกว่าราว 2 เท่าจากที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพผลิตได้ในปี 2022 สำหรับรถยนต์และรถบรรทุก

เฉพาะปี 2022 อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของสหรัฐฯ ใช้ผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองในประเทศไปแล้วประมาณหนึ่งในสาม จึงเกิดความกังวลว่า หากเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็นที่ต้องการมากขึ้น จะนำไปสู่การขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง

ขณะนี้ นักวิจัยกำลังค้นหาตัวเลือกอื่น ๆ ทั้งประเภทของพืชพันธุ์และกรรมวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเชื้อเพลิงที่มีความยั่งยืนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงด้านอากาศยานที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารของมนุษย์

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG