ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปลูกถ่ายอวัยวะหมูใน 'คนไข้สมองตาย' - เป้าหมายช่วยชีวิตมนุษย์ในอนาคต


Organ Transplants
Organ Transplants

นักวิจัยในนครนิวยอร์กได้ปลูกถ่ายหัวใจหมูให้กับคนไข้ภาวะสมองหยุดทำงาน 2 คนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีมาอย่างต่อเนื่องในความพยายามที่จะช่วยชีวิตมนุษย์ด้วยอวัยวะของสัตว์ให้ได้สักวันหนึ่ง

การทดลองที่ได้รับการเผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้ เกิดขึ้นหลังจากความพยายามครั้งประวัติศาสตร์ในการปลูกถ่ายหัวใจหมูเพื่อช่วยชีวิตชายชาวอเมริกันจากรัฐแมริแลนด์เมื่อต้นปีนี้แต่คนไข้เสียชีวิตในเวลาสต่ิอมา ซึ่งเหมือนกับเป็นการซักซ้อมก่อนที่แพทย์จะพยายามอีกครั้งกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ว่าการฝึกฝนการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะกับคนที่ตายแล้วเป็นสิ่งที่สำคัญ

นายแพทย์นาเดอร์ โมอาซามิ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการที่สถาบัน NYU Langone Health กล่าวว่า "เราได้เรียนรู้มากมายจากความพยายามในครั้งแรก ซึ่งทำให้การปลูกถ่ายในครั้งที่สองดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก”

และในครั้งนี้ ทีมวิจัยของ นายแพทย์ โมอาซามิ ได้เลียนแบบวิธีการปลูกถ่ายหัวใจที่ทำกันอยู่ตามปกติ เมื่อเดือนที่แล้วและต้นเดือนกรกฎาคม นักวิจัยได้เดินทางไปยังศูนย์ดัดแปลงพันธุกรรมหมู เพื่อนำหัวใจหมูที่ต้องการมาเเช่น้ำแข็ง และนำอวัยวะดังกล่าวขึ้นเครื่องบินกลับไปที่นิวยอร์ก

ทั้งนี้ นักวิจัยใช้วิธีการพิเศษวิธีใหม่เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสในสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายก่อนที่จะเย็บหัวใจเข้าไปในหน้าอกของผู้รับการปลูกถ่ายแต่ละคนที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยหนึ่งในนั้นก็คือนายทหารผ่านศึกสงครามเวียดนามจากรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีประวัติโรคหัวใจมายาวนาน และหญิงชาวนิวยอร์กซึ่งเคยได้รับประโยชน์จากการปลูกถ่ายมาก่อนหน้านี้

เมื่อการทดลองที่เข้มข้นเกินกว่าที่ผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่จะทนได้ รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อจากอวัยวะเพื่อนำไปตรวจบ่อยครั้งผ่านไปจนครบสามวัน แพทย์ก็ตัดสินใจถอดเครื่องช่วยชีวิตออก

สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA กำลังพิจารณาว่าควรให้ชาวอเมริกันจำนวนเล็กน้อยที่ต้องการอวัยวะใหม่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการศึกษาที่เข้มข้นเกี่ยวกับหัวใจหรือไตหมูหรือไม่ โดย NYU Langone ซึ่งเป็นหนึ่งในสามศูนย์ปลูกถ่ายวางแผนที่จะทำการทดลองและจะเข้าร่วมประชุมกับ FDA ในเดือนสิงหาคมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกำหนดต่าง ๆ

Pig Heart Transplant
Pig Heart Transplant

นายแพทย์เดวิด คลาสเซน จาก United Network for Organ Sharing ซึ่งดูแลระบบการปลูกถ่ายของประเทศกล่าวว่า การทดลองในคนตายนั้นอาจช่วยปรับแต่งการทดลองที่มีขึ้นในครั้งแรกกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ดีขึ้นได้

การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่าเป็นการปลูกถ่ายข้ามสายพันธุ์นั้น (xenotransplantation) ได้ถูกทดลองมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ แทบจะโจมตีเนื้อเยื่อแปลกปลอมในทันทีทันใด ตอนนี้หมูกำลังถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อทำให้อวัยวะของพวกมันเหมือนกับของมนุษย์มากขึ้น เพื่อว่าในวันหนึ่งอวัยวะเหล่านั้นอาจช่วยเติมเต็มการขาดแคลนอวัยวะที่ได้จากการรับบริจาคได้

มีผู้คนมากกว่า 100,000 คนในประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคไต และมีอีกหลายพันคนที่ต้องเสียชีวิตลงทุก ๆ ปีก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทดลองเกี่ยวกับหัวใจครั้งล่าสุดของ NYU จะเป็นการเพิ่มหลักฐานให้กับการศึกษาวิจัย ในขณะที่ FDA กำลังตัดสินใจว่าควรให้มีการศึกษาอย่างเป็นทางการในผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่

แต่ นายแพทย์โรเบิร์ต มอนโกเมอรี่ (Dr. Robert Montgomery) แห่ง NYU Langone ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไตซึ่งตัวเขาเองก็ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจมาก่อนกล่าวว่า การทดลองอย่างระมัดระวังต่อไปในผู้ตายเป็นสิ่งสำคัญในการหาวิธีที่ดีที่สุดในการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วยโดยที่ไม่มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะตัดสินใจอนุมัติการศึกษาดังกล่าวหรือไม่ ช้าเร็วแค่ไหน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG