ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'เกาะใต้ของนิวซีเเลนด์' เคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะเหนือหลายเมตรหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงปีที่แล้ว!


please wait

No media source currently available

0:00 0:02:55 0:00

ข้อมูลใหม่รวมทั้งภาพเรดาร์จากดาวเทียม เเสดงให้เห็นว่าพื้นที่หลายจุดของเกาะใต้ในนิวซีแลนด์ได้เคลื่อนตัวเข้าไปใกล้กับเกาะเหนือมากขึ้นอีกกว่า 5 เมตร และบางจุดเคลื่อนเข้าไปใกล้ถึงเกือบ 8 เมตร

ข้อมูลอื่นๆ ที่ใช้ประกอบยังมาจากการสังเกตุการณ์ภาคพื้นดินและรายงานวิเคราะห์พื้นที่แนวชายฝั่งโดย GNS หน่วยงานวิจัยของรัฐบาลนิวซีเเลนด์

หน่วยงานวิจัย GNS ได้ตีพิมพ์รายงาน 10 ชิ้นเเรกเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่หนนี้ ที่เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในวารสาร Science

รายงานผลการศึกษาของ GNS ได้รวมเอางานเขียนของนักวิจัย 29 คนจาก 11 สถาบันระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมทั้งองค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือนาซ่า และมหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษ​

มีคนเสียชีวิตสองรายในเหตุเเผ่นดินไหวที่มีแมกนิจูด 7.8 และเมืองไคคูร่า เเหล่งท่องเที่ยวถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะเกิดเหตุดินถล่ม เเรงสะเทือนครั้งนั้นยังทำให้เกิดการเเยกของพื้นดินยาวเกือบ 200 เมตรอีกด้วย

Ian Hamling หัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการวิจัยกล่าวว่า การเคลื่อนตัวของพื้นโลกในนิวซีเเลนด์ เกิดขึ้นจากเเรงสะเทือนใต้โลกที่รุนแรงได้ดึงพื้นโลกไปในหลายทิศทาง

เขากล่าวว่า "เหตุเเผ่นดินไหวครั้งนั้นเหมือนกับการออกเเรงดึงจากสองทิศ เปลือกโลกสองฟากของบริเวณรอยต่อเคลื่อนตัวไปในทางตรงกันข้ามกัน ทำให้พื้นที่หลายจุดในเกาะใต้จากเมืองไคคูร่าไปจนถึงเคปแคมป์เบลในเกาะใต้ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และบางพื้นที่ที่อยู่ทางใต้เคลื่อนตัวไปในทิศตรงกันข้าม"

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทางะวันออกเฉียงเหนือของเมืองไครสต์เชิร์ช และสามารถรู้สึกถึงเเรงสั่นสะเทือนได้ที่กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีเเลนด์ ที่อยู่บนเกาะเหนือห่างออกไป 200 กิโลเมตร

เมืองไครสเชิร์ช ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากเหตุเเผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อ 6 ปีที่เเล้ว มีคนเสียชีวิตถึง 185 คน และสร้างความเสียหายเเก่ตัวเมืองอย่างมาก

ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลียและแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "วงแหวนแห่งไฟ"

แต่ละปี นิวซีแลนด์ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวสูงถึง 15,000 ครั้ง แต่มีเพียงราว 150 ครั้งที่แรงสั่นสะเทือนเเรงพอที่จะรู้สึกได้

(รายงานโดย Phil Mercer / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว )

XS
SM
MD
LG