ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัสเซียต้องการคำอธิบายเรื่องสหรัฐควบคุมตัวสายลับ


Drawing showing five of the 10 arrested Russian spy suspects in a New York courtroom, 28 Jun 2010
Drawing showing five of the 10 arrested Russian spy suspects in a New York courtroom, 28 Jun 2010

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศการจับกุมสายลับของรัสเซีย 10 คนในสหรัฐ รัสเซียเรียกร้องขอคำอธิบายยืนยัน

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศการจับกุมสายลับของรัสเซีย 10 คนในสหรัฐ เมื่อวันจันทร์ คนที่ 11 ในสายลับกลุ่มนี้ เพิ่งถูกตำรวจสากล หรือ Interpol จับได้ที่นครนิโคเซีย เกาะไซปรัส ตามรายงานข่าวเช้าวันอังคารที่กรุงวอชิงตัน

ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้พยายามกลับไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย ซึ่งทุกฝ่ายให้ความเห็นว่า กำลังดำเนินไปด้วยดี และประธานาธิบดี Dimitri Medvedev ของรัสเซียก็เพิ่งจะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันก่อนการประกาศจับสายลับเหล่านี้ไม่กี่วัน

คำถามที่ตามมาก็คือ สายลับเหล่านี้ คือใคร เท่าที่แล้วมาทำงานได้ผลหรือไม่ และเรื่องที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียอย่างไรหรือไม่

เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศว่า คนทั้งสิบที่ทำงานให้กับสำนักข่าวกรองต่างประเทศของรัสเซีย เรียกย่อๆว่า SVR พำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐในลักษณะที่เรียกว่า “Deep Cover” ซึ่งศาสตราจารย์ Marshall Goldman ของมหาวิทยาลัย Harvard ให้คำอธิบายไว้ว่า คนเหล่านี้แทรกตัวเข้าในสังคมอเมริกัน ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วๆไป ทำงาน ไปเรียนหนังสือ ไม่ทำอะไรโดดเด่นแตกต่างไปจากเพื่อนบ้าน

ยังไม่มีการประกาศให้เป็นที่ทราบว่า คนเหล่านี้ถือเชื้อชาติหรือสัญชาติอะไร มีรายงานเพียงแต่ว่า คนที่ถูกจับที่ไซปรัสนั้น เป็นชาวแคนาดา

แม้ทางการสหรัฐจะตั้งข้อสงสัยว่า คนเหล่านี้พยายามจะพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ในวงการเกี่ยวข้องกับการวางนโยบายของประเทศ เก็บข้อมูลในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการทหาร นโยบายต่างประเทศ และกิจกรรมของรัฐสภาสหรัฐ เพื่อส่งเป็นข่าวกรองกลับไปให้รัสเซีย แต่ผู้เชี่ยวชาญในวงการการรักษาความมั่นคง อย่างนาย Charles Pinck หุ้นส่วนคนหนึ่งของ บริษัท The Georgetown Group ซึ่งทำงานทางด้านนี้โดยเฉพาะ ไม่คิดว่าคนเหล่านี้ทำงานได้ตามเป้าหมาย

นาย Charles Pinck แห่ง The Georgetown Group บอกว่า เมื่อดูตามคำกล่าวหา ไม่คิดว่าคนกลุ่มนี้ทำงานสำเร็จมากนัก เพราะข้อหาที่ตั้งขึ้นมา ไม่ใช่ข้อหาว่ากระทำการจารกรรม หากแต่เป็นเรื่องที่คนเหล่านี้มิได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงยุติธรรมว่า ตนทำงานให้กับรัฐบาลต่างประเทศ ในขณะที่อีกข้อหาหนึ่งนั้นเป็นเรื่องการฟอกเงิน ทำให้คิดไปได้สองแง่มุม กล่าวคือ คนเหล่านี้ทำงานไม่สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมายมา หรือไม่ก็เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจับไม่ได้คาหนังคาเขา ซึ่งทำไม่ได้ง่ายๆ

สำหรับปฏิกิริยาจากรัสเซียนั้น กระทรวงการต่างประเทศมีถ้อยแถลงกล่าวแสดงความเสียใจที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐกับรัสเซียกำลังพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และว่า ข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ ไม่มีมูล ส่วนรัฐมนตรี Sergei Lavrov ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวแสดงความหวังว่า จะได้รับคำอธิบายเรื่องการจับกุมดังกล่าวจากสหรัฐ ในขณะที่นายกรัฐมนตรี Vladimir Putin กล่าวแสดงความหวังกับอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเยือนกรุงมอสโคว์ว่า เรื่องนี้คงจะไม่ทำความเสียหายให้กับความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ทวิภาคี

นักวิชาการ Steven Pifer แห่งสถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน ก็ไม่คิดว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย

นักวิเคราะห์ผู้นี้สะท้อนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียก้าวหน้าไปมากในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา และไม่คิดว่าเรื่องนี้จะก่อผลเสียให้กับความสัมพันธ์นั้นมากนัก

ผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายยังยอมรับด้วยว่า การจารกรรมนั้นเป็นอาชีพเก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก หรือจะว่าเป็นงานที่มีมาตลอดกาล อย่างที่นาย Alexander Konovalov ผู้อำนวยการสถาบัน Strategic Assessments ในกรุงมอสโคว์กล่าวไว้

นักวิเคราะห์ชาวรัสเซียผู้นี้ส่งท้ายว่า งานข่าวกรองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐใดก็ตาม และก็เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดี

XS
SM
MD
LG