ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้สิทธิ์คนรับใช้ชาวต่างชาติทำเรื่องขอใบเขียวหรือวีซ่าถาวรหลังจากที่ทำงานอยู่นาน 7 ปีขึ้นไป


ศาลอุทธรณ์ของฮ่องกงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้สิทธิ์คนรับใช้ชาวต่างชาติที่ทำงานและอยู่ในฮ่องกงมานาน 7 ปีขึ้นไป ทำเรื่องขอใบเขียว หรือวีซ่าถาวรได้ สิทธิ์เรื่องนี้เป็นกฎหมายพื้นฐานอยู่ในรัฐธรรมนูญของฮ่องกงที่บังคับใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 หรือ พ.ศ. 2540 เมื่อฮ่องกงพ้นจากการปกครองของอังกฤษ และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน คนต่างชาติอื่นๆที่ทำงานอยู่ในฮ่องกง แต่เป็นงานนั่งโต๊ะ ใช้สิทธิ์ที่ว่านี้กันทั้งนั้น ทำไมศาลอุทธรณ์ของฮ่องกง จึงกลับคำตัดสิน ของศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์ของฮ่องกงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้สิทธิ์คนรับใช้ชาวต่างชาติที่ทำงานและอยู่ในฮ่องกงมานาน 7 ปีขึ้นไป ทำเรื่องขอใบเขียว หรือวีซ่าถาวรได้ สิทธิ์เรื่องนี้เป็นกฎหมายพื้นฐานอยู่ในรัฐธรรมนูญของฮ่องกงที่บังคับใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 หรือ พ.ศ. 2540 เมื่อฮ่องกงพ้นจากการปกครองของอังกฤษ และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน คนต่างชาติอื่นๆที่ทำงานอยู่ในฮ่องกง แต่เป็นงานนั่งโต๊ะ ใช้สิทธิ์ที่ว่านี้กันทั้งนั้น


Evangeline Vallejos สาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ในฮ่องกงเป็นผู้ทำเรื่องฟ้องร้องกรมการตรวจคนเข้าเมืองของฮ่องกง เพื่อจะให้ได้สิทธิ์สำหรับวีซ่าถาวรเช่นเดียวกับแรงงานชาวต่างชาติอื่นๆที่อยู่ในฮ่องกงมาครบ 7 ปี

ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับเธอว่า กฎหมายพื้นฐานดังกล่าวควรบังคับใช้ได้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

แต่เมื่อวันพุธ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษานั้น โดยให้ความเห็นว่า ตามหลักการขั้นพื้นฐาน รัฐอธิปไตยมีอำนาจที่จะรับเข้า คัดออก และเนรเทศคนต่างชาติได้ และบอกว่า การคัดคนรับใช้ชาวต่างชาติออก เป็นไปตามบทบัญญัติในกฎหมายพื้นฐานบทเดียวกับที่ใช้ในการคัดออกบุคคลต่างๆ เช่น ผู้ลี้ภัยชาวเวียตนาม และผู้ที่เคยถูกคุมขังหรือถูกควบคุมตัว

คุณ Dolores Balladares ประธานองค์กรชาวฟิลิปปินส์ในฮ่องกง กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์แรงงานอพยพที่สนับสนุนคุณ Evangeline กล่าวแสดงความผิดหวังต่อคำตัดสินของศาลอุทธรณ์

เธอกล่าวว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนรับใช้ชาวต่างชาติ ถ้าแรงงานอื่นๆสามารถขอวีซ่าถาวรได้ ทำไมคนรับใช้ชาวต่างชาติจึงขอไม่ได้

คนรับใช้ชาวต่างชาติในฮ่องกงส่วนใหญ่ไปจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และในขณะที่เงื่อนไขการว่าจ้างในฮ่องกงดีกว่าในประเทศอื่นๆในเอเชียด้วยกัน ซึ่งรวมทั้งสิงคโปร์และมาเลย์เซีย

กระนั้น คนรับใช้ในฮ่องกงก็ยังทำงานหนักมาก โดยทั่วไปชั่วโมงทำงานยาวนานถึง 15 ชม.ต่อวัน และนอกจากงานเลี้ยงเด็กแล้ว ยังต้องทำกับข้าวและทำความสะอาดด้วย

ตามกฎหมาย คนรับใช้ในฮ่องกงได้วันหยุดสัปดาห์ละหนึ่งวัน แต่อัตราค่าจ้างไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายค่าแรงงานขั้นต่ำ โดยเฉลี่ยแล้วคนรับใช้ตามบ้านในฮ่องกงได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 110 เหรียญเท่านั้น

มองกันว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน ศกก่อน เป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญของแรงงานอพยพทั่วเอเชีย แต่ในหมู่ชาวจีนในฮ่องกงแล้ว กลับก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้าน

คนเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งนักการเมืองและกลุ่มชุมชน ไม่ต้องการเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อใช้จ่ายให้กับการศึกษา บริการทางการแพทย์ และทางสังคมอื่นๆให้กับคนรับใช้ชาวต่างชาติและครอบครัวที่จะมีสิทธิ์พำนักอาศัยอยู่ในฮ่องกงอย่างถาวร

ประมาณกันว่า มีคนรับใช้ชาวต่างชาติอยู่ในฮ่องกงราวๆสามแสนคน และประมาณหนึ่งแสนสองหมื่นคนมีสิทธิ์ที่จะขอใบเขียวได้ ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านบอกว่า ถ้านับรวมครอบครัวของคนเหล่านี้ด้วยแล้ว จำนวนอาจสูงถึงห้าแสนคน

Dolores Balladares บอกว่า ยังไงๆ ก็ยังถือว่าฟิลิปปินส์เป็นบ้าน และพวกเธอส่วนใหญ่อยากจะกลับบ้านกันมากกว่าที่จะอยู่ที่ฮ่องกงอย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม อธิบดี Ambrose Lee แห่งกรมการรักษาความมั่นคง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า จะยังไม่ทำเรื่องใบเขียวให้กับคนรับใช้ราวๆ 900 คนที่ยื่นคำร้องไว้แล้ว เพราะเชื่อว่า ฝ่ายโจทย์จะร้องเรียนถึงศาลฎีกา ทางรัฐบาลไม่ถือว่าคำตัดสินของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดสำหรับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ของฮ่องกงผู้นี้กล่าวไว้ด้วยว่า ถ้าฝ่ายโจทย์ชนะคดีในขั้นศาลฎีกา รัฐบาลฮ่องกงก็อาจแก้กฎหมายพื้นฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

คาดกันว่า ถ้ารัฐบาลฮ่องกงต้องหันไปขอให้ปักกิ่งช่วยแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ชาวฮ่องกงคงจะไม่พอใจกันเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนชาวฮ่องกงต้องการเป็นอิสระทางกฎหมายจากจีน ตามหลักการของประเทศเดียว แต่สองระบบการปกครอง

XS
SM
MD
LG