นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐค้นพบ gene หรือเชื้อพันธุ์ตัวหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงามของผมคนเรา และหวังว่า สักวันหนึ่ง การค้นพบนี้อาจนำไปสู่การบำบัดอาการผมร่วงศีรษะล้านที่ผู้ชายมักเป็นกันทั่วไปได้
นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ในนครนิวยอร์ค และจากปากีสถานกับอิตาลี ศึกษาความผิดปกติของการงอกของเส้นผม ซึ่งทำให้ศีร์ษะล้านเป็นกรรมพันธุ์สืบต่อกันมาอย่างผิดธรรมดาของคนในปากีสถาน 2 ตระกูลและคนในอิตาลีอีกตระกูลหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พบการกลายพันธุ์ของ gene หรือ เชื้อพันธุ์ตัวหนึ่งซึ่งมีเหมือนๆ กัน ในคน 3 ตระกูลนั้น
Angela Christiano ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังระดับโมเลกุลแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่าโรคศีร์ษะล้านที่พบในคนปากีสถานและคนอิตาลีดังกล่าวนั้น เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า heredity hypotrichosis simplex ซึ่งทำให้รูขุมขนหรือต่อมรากผมบนหนังศีรษะหดตัวและทำให้ผมร่วง
Angela Christiano อธิบายว่า Gene หรือ เชื้อพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกย่อ ๆ ว่า APCCD1 นี้ เกี่ยวข้องในการส่งสัญญาณ ซึ่งเป็นตัวเร่งการเจริญงอกงามของเส้นผม และเมื่อ gene นั้นกลายพันธุ์ กระบวนการกระตุ้นการงอกของเส้นผมถูกขัดจังหวะ ทำให้ผมร่วง
จากการทดลองในหนู นักวิทยาศาสตร์พบว่า การส่งสัญญาณกระตุ้นที่ว่านี้เป็นกระบวนการควบคุมการงอกของขน
สภาพศีรษะล้านที่เป็นกันโดยทั่วไปในผู้ชายนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อพันธุ์ตัวหนึ่งที่กำกับฮอร์โมนเพศชาย testosterone ด้วยเหตุนี้ ตัวยาที่ใช้ในการบำบัดศีรษะล้านจึงมีฮอร์โมนนี้อยู่ด้วย ซึ่งนักวิจัยบอกว่า อาจไม่ปลอดภัย หรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
นักวิจัยบอกว่า ในบรรดาผู้ชายที่ศีรษะล้านโดยทั่วไปนั้น ผมจะค่อยๆ ร่วงไปเรื่อยๆ จนศีรษะล้านขณะที่อายุมากขึ้น และก็อาจมีความผิดปกติในการงอกของเส้นผมด้วย แต่ไม่ใช่ในลักษณณะเดียวกับอาการที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ในปากีสถานและในอิตาลีดังกล่าว
Angela Christiano กล่าวว่า แม้ว่าเชื้อพันธุ์ผิดปกติดังที่พบนี้ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการทางชีววิทยา ของการที่รูขุมขนหรือต่อมรากผมหดตัวและทำให้ผมร่วง แต่จะยังถือไม่ได้ว่า เป็นตัวเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในการทำยา สำหรับบำรุงเส้นผมหรือปลูกผม อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหวังว่า การค้นพบนี้ จะสามารถช่วยในการหาวิธีบำบัดรักษาอาการผมร่วงมากผิดปกติ ที่มีประสิทธิภาพได้โดยที่ไม่มีฮอร์โมนมาเกี่ยว
รายงานการค้นพบนี้ ลงพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด