ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พม่าเป็นข่าวใหญ่ในปีนี้เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังมีปัญหาท้าทายที่พม่าต้องแก้ไขถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ


ปีนี้เป็นปีที่พม่าได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างมาก สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งนำไปสู่การเดินทางเยือนพม่าโดยประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ผู้นำพม่าก็ยังมีปัญหาท้าทายที่จะต้องแก้ไขให้ได้ ถ้าจะนำประเทศไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

ในระหว่างการเยือนพม่า ปธน. Obama ได้กล่าวยกย่องผู้นำคณะรัฐบาล ปธน. Thein Sein และนาง Aung San Suu Kyi ผู้นำฝ่ายค้าน และว่า ยังมีปัญหาท้าทายรออยู่ข้างหน้า รวมทั้งผู้ที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ปธน. สหรัฐมั่นใจว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่า จะไม่มีวันย้อนกลับ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การกบฎในตอนเหนือของรัฐ Kachin ที่มีมานานแล้ว และความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคตะวันตกของรัฐ Rakhine ในปีนี้ เป็นภัยคุกคามการปฏิรูปของพม่า

ปัญหาใน Kachin ได้ทำให้มีผู้อพยพแล้วนับแสนๆคน ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาว Rohingya และ Kamanใน Rakhine ทำให้มีคนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 170 คน และอีกมากกว่าหนึ่งแสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ต้องอพยพไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย

Phil Robertson รองผอ. สำนักงาน Human Rights Watch ในเอเชีย วิตกว่า พม่าจะถอยหลังเข้าคลอง ถ้าไม่แก้ปัญหากันที่รากเหง้า

จนท. ขององค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศผู้นี้กล่าวว่า มีความไม่แน่นอนเชื่อมโยงกับรัฐของชนเผ่าเป็นอย่างมาก และการที่รัฐบาลแก้ปัญหาใน Rakhine และ Kachin ไม่สำเร็จ เป็นสัญญาณเตือนแก่กลุ่มชนเผ่าอื่นๆ

นาง Aung San Suu Kyi ได้แถลงไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งว่านโยบายการประนีประนอมชนเผ่าจะเป็นงานสำคัญ แต่ไม่มีถ้อยแถลงอย่างใดออกมาเลยเมื่อเกิดปัญหาใน Rakhine ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ตำหนิผู้นำฝ่ายค้านของพม่า

รองศาตราจารย์ ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ ผอ. Institute of Security and International Studies ที่กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่าผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ถูกมองข้ามในเรื่องนี้ และว่า นาง Aung San Suu Kyi ถูกจำกัดในประเด็นนี้ เพราะความมุ่งหมายทางการเมืองภายในประเทศของเธอเองสำหรับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2015 เธอไม่ต้องการแปลกแยกผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งของเธอ แต่ในขณะเดียวกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ และจะต้องพิจารณาแก้ไขกัน

ในอีกด้านหนึ่ง การปราบปรามผู้ที่คัดค้านเหมืองทองแดงที่จีนหนุนหลัง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกันว่า ทางการพม่าจะไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องข้อตกลงทางการค้าที่รัฐบาลทหารชุดก่อนทำไว้

นาย Thura Ko Ko กรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุน YGA Capital ให้ความเห็นว่า ต้องปฏิรูปการเมืองกันให้ได้ ก่อนที่เศรษฐกิจจะก้าวหน้าต่อไปได้

นักธุรกิจการเงินผู้นี้บอกว่า ผู้คนจะลุกขึ้นคัดค้านถ้าเห็นว่า นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาเอารัดเอาเปรียบ อย่างที่เห็นนักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านทำกัน คนเหล่านั้นได้รับสิทธิพิเศษมหาศาลทั้งในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เหล่านี้เป็นต้น น่าเสียดายว่าพวกนี้ทำกันเกินเลยไปมาก

ปธน. Thein Sein ได้แต่งตั้งให้นาง Aung San Suu Kyi เป็นหัวหน้าคณะสืบสวนโครงการเหมืองทองแดงที่เกิดเหตุประท้วงกันขึ้น

อย่างน้อยความร่วมมือระหว่างผู้นำทางการเมืองของพม่าทั้งสองคนนี้ ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่หลายๆคนหวังว่าจะนำประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสกว่าที่เคยเป็นมาได้
XS
SM
MD
LG