ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลกระทบจากคดีอื้อฉาว Watergate เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีที่ปธน. Richard Nixon ลาออกจากตำแหน่ง


President Richard Nixon
President Richard Nixon
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:26 0:00
Direct link

วันเสาร์ที่ 9 ส.ค นี้ เป็นวันครบรอบ 40 ปีที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ Richard Nixon ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากความเกี่ยวข้องกับข่าวอื้อฉาวคดี Watergate เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเรื่องราวของคดี Watergate นี้ส่งผลกระทบต่อการเมืองอเมริกันในวงกว้าง และมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

คืนวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ 1974 ประธานาธิบดี Richard Nixon ปรากฏตัวต่อประชาชนอเมริกันผ่านทางโทรทัศน์ซึ่งถ่ายทอดสดมาจากห้องทำงานของ ปธน.ในทำเนียบขาว เพื่อประกาศลาออกจากตำแหน่ง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ปธน.สหรัฐลาออกขณะกำลังดำรงตำแหน่งอยู่ สืบเนื่องจากคดีที่ปธน. Nixon ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์ลักลอบโจรกรรมในสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคาร Watergate ในกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1972 รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าพยายามปกปิดความเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว

รองประธานาธิบดี Gerald Ford ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยได้กล่าวรับรองกับประชาชนอเมริกันว่า อเมริกาจะก้าวเดินต่อไปภายใต้การนำของประชาชน

ในคดี Watergate เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาหลายคนของอดีตปธน. Richard Nixon ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด รวมทั้งข้อหาทางอาญาอื่นๆ ตัวปธน.Nixon เองนั้นได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีคนใหม่คือ Gerald Ford แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในวงการเมืองอเมริกันในเวลาต่อมา

อาจารย์ Allen Lichtman ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองจาก American University ระบุว่าคดี Watergate ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองสหรัฐ เพราะคดี Watergate ถือเป็นความอื้อฉาวครั้งใหญ่ที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีของสหรัฐและคณะทำงาน พยายามบ่อนทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์บางอย่างในการระดมทุนหาเสียง

นอกจากนี้ คดีนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่การเมืองสหรัฐยุคใหม่ ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนระหว่างสองพรรคใหญ่คือเดโมแครตและรีพับลิกัน แม้จะไม่รุนแรงเท่าในปัจจุบัน

อาจารย์ Lichtman ยังชี้ด้วยว่า คดีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนในการเปิดโปงความอื้อฉาวทางการเมือง เพราะหากไม่ใช่การทำงานขุดคุ้ยในฐานะนักข่าวของ Bob Woodward และ Carl Bernstein จาก Washington Post แล้ว ปธน. Nixon ก็อาจจะเอาตัวรอดไปจากความอื้อฉาวครั้งนี้ได้

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือทัศนคติของคนอเมริกันที่มีต่อคดีนี้ โดยผลการสำรวจเมื่อปี ค.ศ 1974 ชี้ว่าคนอเมริกัน 59% ไม่เห็นด้วยที่ปธน.Ford อภัยโทษแก่ ปธน. Nixon แต่ผลสำรวจในอีก 28 ปีต่อมาคือเมื่อปี ค.ศ 2002 ชี้ว่าคนอเมริกัน 59% เชื่อว่า ปธน. Ford ทำถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการทำให้คนอเมริกันรวมใจกันฝ่าฟันความอื้อฉาวครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกาไปได้

รายงานจาก Jim Malone ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

XS
SM
MD
LG