ลิ้งค์เชื่อมต่อ

UN จัดการประชุมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน


ในการประชุมเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่นคร Geneva มีผู้ไปร่วมการประชุมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 1500 คน

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:14 0:00
Direct link

ในการประชุมเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่นคร Geneva มีผู้ไปร่วมการประชุมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 1500 คน

วันพุธที่ 3 ธันวาคม เป็นวันครบรอบ 30 ปีที่เกิดแก๊สพิษรั่วไหลออกมาจากโรงงานของบริษัท Union Carbide ในอินเดียทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 25,000 คน และที่บาดเจ็บอีกนับแสน

มีเรื่องในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ผู้จัดการประชุมกล่าวไว้ด้วยว่า ในขณะที่หยิบยกปัญหาระหว่างกิจกรรมทางธุรกิจกับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่รวมทั้งสิทธิมนุษยชนของแรงงานขึ้นมาพิจารณา ก็ยอมรับว่า ธุรกิจเป็นผู้สร้างงาน คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และจัดทำสินค้าและบริการที่ช่วยให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น

ขณะเดียวกัน Margaret Jungk รองประธานคณะทำงานของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ย้ำว่าธุรกิจมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องเคารพ ไม่ใช่บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน

รองประธานคณะทำงานของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ยอมรับว่า ในโลกของความเป็นจริง จะมีปัญหา ความพลาดพลั้ง และการละเมิดสิทธิ์เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทุกคนมีความรับผิดชอบที่จะต้องหาทางแก้ไขอย่างได้ผล และในขณะที่รัฐบาลทำงานผ่านทางระบบศาลและวิถีทางอื่นๆ บริษัทธุรกิจก็ควรต้องมีส่วนร่วมด้วยการจัดตั้งกลไกรับฟังคำร้อง และวิถีทางติดต่อกับชุมชนที่ได้รับความกระทบกระเทือนได้โดยตรง

คณะทำงานชุดนี้ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการต่อที่ประชุม แผนดังกล่าวร่างขึ้นโดยอาศัยหลักการของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน

Mo Ibrahim นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสาย Sudan และประธานของที่ประชุมกล่าวว่า บริษัทธุรกิจทั่วโลกที่ไม่ทำงานตามหลักการของสหประชาชาติ จะต้องแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

เขายกอุตสาหกรรมน้ำมันและเหมืองแร่ในแอฟริกามาเป็นตัวอย่าง โดยเล่าว่าบริษัทน้ำมันมักจะเก็บสัญญาของตนเป็นความลับ ซึ่งหมายความว่า ไม่มีใครรู้ว่าใครจ่ายเงินให้กับใครบ้าง และทำให้เกิดการทำงาน โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ อย่างไม่ปลอดภัย หรือการประมงผิดกฎหมาย เหล่านี้เป็นต้น

นักธุรกิจผู้นี้ได้ก่อตั้งมูลนิธิที่ส่งเสริมความเป็นผู้นำและธรรมาภิบาลขึ้นในทวีปแอฟริกาเมื่อราวๆ 8 ปีที่แล้ว มูลนิธิ Mo Ibrahim ยังได้จัดทำดัชนีธรรมาภิบาลขึ้นเพื่อจัดอันดับการทำงานของรัฐบาลตามประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิพากษ์ตำหนิการทำงานของบริษัทธุรกิจบางรายในการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่า โดยทั่วไป บริษัทธุรกิจสนับสนุนหลักการในเรื่องนี้ของสหประชาชาติ รวมทั้งความมุ่งหมายของที่ประชุม โดยมีเหตุผลสำคัญที่ว่า ธุรกิจจะไม่ได้ประโยชน์ถ้าบรรยากาศการทำงานเป็นการเอารัดเอาเปรียบแต่เพียงฝ่ายเดียว

ผู้จัดการประชุมเองตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจจะก้าวหน้าได้ จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่มีความเสถียร และโดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจจะเป็นผู้เรียกร้องให้มีหลักนิติธรรมและการบังคับใช้ รวมทั้งความเคารพในสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขันมากกว่าใครเพื่อน

XS
SM
MD
LG