ลิ้งค์เชื่อมต่อ

EU ยื่น ‘ใบเหลือง’ ให้ไทยปฏิรูปอุตสาหกรรมการประมง


Thailand Fishing Industry
Thailand Fishing Industry

สหภาพยุโรปยื่นคำขาดให้ไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงผิดกฎหมายหรือ IUU มิฉะนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยัง EU ภายในสิ้นปีนี้

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:07 0:00
Direct link

สหภาพยุโรป (EU) ยื่นคำขาดให้ประเทศไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IUU มิฉะนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยัง EU ภายในสิ้นปีนี้

รายงานของคณะกรรมการบริหารของ EU กล่าวว่า ได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวหลังการวิเคราะห์โครงสร้างที่ทางกฎหมาย มาตรการบังคับใช้ และการจัดการบริหารงานในเรื่องนี้ของประเทศไทยอย่างละเอียด ซึ่งส่งผลกระทบความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ถ้า EU สั่งห้ามการส่งออกอาหารทะเลจากประเทศไทยจริง คาดว่าประเทศไทยจะประสบการสูญเสียรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

รายงานข่าวกล่าวว่า ความวิตกกังวลสำคัญของ EU คือการที่ประเทศไทยไม่สามารถให้การรับรองได้อย่างถูกต้องถึงแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมายของอาหารทะเลที่ส่งออก

ในสัปดาห์นี้ กระทรวงเกษตรของประเทศไทยได้เริ่มการรณรงค์ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อปรับปรุงการทำงานของอุตสาหกรรมการประมง รายงานข่าวกล่าวว่า รัฐบาลกำลังเขียนกฎข้อบังคับการประมงที่เข้มงวดมากขึ้น และคาดว่าจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของไทยมีถ้อยแถลงออกมา ที่กล่าวว่า EU เลือกที่จะไม่ให้ความสนใจกับความพยายามอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทย ในการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เคยมองกันว่าเป็นสาเหตุของการประมงผิดกฎหมาย

EU และองค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่รัฐบาลหรือ NGO ประมาณว่า ตลาดมืดอาหารทะเลที่มาจากการประมง IUU มีมูลค่าสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 15% ของปริมาณการจับปลาทั่วโลก

องค์กร NGO หลายรายยินดีกับการดำเนินมาตรการของ EU ต่อประเทศไทยในครั้งนี้

Environmental Justice Foundation (EJF), Oceana, The Pew Charitable Trusts, และ World Wildlife Fund มีถ้อยแถลงร่วมกันออกมาที่กล่าวว่า “จากนี้ไป ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเชิงบวกและร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารของ EU เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการถูกนำชื่อขึ้นบัญชีดังกล่าว"

นาย Steve Trent ผู้บริหารของ EJF กล่าวว่า “ทางการไทยมีการควบคุมเรือประมงของตนน้อยมาก โดยเรือประมงเหล่านั้นมีกิจกรรมผิดกฎหมายหลายอย่าง ทำลายปริมาณปลาและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพการทำงานที่เอารัดเอาเปรียบมากที่สุดและโหดร้ายทารุณมากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันไว้"

ผู้บริหารของ EJF กล่าวส่งท้ายว่า สภาพดังกล่าวรวมถึงการใช้แรงงานทาสและความรุนแรงอย่างมากที่สุดด้วย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ลดอันดับประเทศไทยลงไปอยู่ในระดับที่สาม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของบัญชีรายชื่อประเทศที่ไม่แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และเมื่อเร็วๆ นี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ของสหประชาชาติ มีคำเตือนประเทศไทยในเรื่องความปลอดภัยของบริการการบินเชิงพาณิชย์ของประเทศ

ขณะเดียวกัน EU ยอมรับความก้าวหน้าในการดำเนินการปฏิรูปการประมงของเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ว่า “ได้ดำเนินการปฏิรูประบบกฎหมายอย่างเหมาะสม และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายได้แล้ว”

เวลานี้ EU สั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาที่จับมาได้โดยเรือของศรีลังกา กินี และกัมพูชา

XS
SM
MD
LG