ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนโดยหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งจีน ทำให้บริษัทน้ำมันไม่กล้าประมูลขุดเจาะหาน้ำมันในทะเลจีนใต้


Liberian-flagged tanker Yuri Senkevich, Lufeng oil field, South China Sea, May 2006 (file photo).
Liberian-flagged tanker Yuri Senkevich, Lufeng oil field, South China Sea, May 2006 (file photo).

ฟิลิปปินส์เปิดประมูลสิทธิ์ในการขุดหาน้ำมันในหลายบริเวณในทะเลจีนใต้สัปดาห์ที่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนโดยหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งจีน ทำให้บริษัทน้ำมันไม่กล้าเข้าประมูล

ฟิลิปปินส์เปิดประมูลสิทธิ์ในการขุดหาน้ำมันในหลายบริเวณในทะเลจีนใต้ในสัปดาห์ที่แล้ว และพื้นที่สองส่วน หรือ block ที่เปิดประมูล เป็นพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์

ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่านี้ อาจทำให้ผู้ที่อยากเข้าร่วมการประมูล เกิดความลังเลใจได้

แม้ฟิลิปปินส์จะเห็นว่า มีราวๆ 20 บริษัทที่จะสามารถร่วมการประมูลได้ โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่สามส่วน หรือ block ที่ทางการฟิลิปปินส์เปิดให้ประมูลได้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม เท่าที่ปรากฎมีเพียงบริษัทเดียวที่ยื่นซองประมูลสำหรับพื้นที่ block หนึ่งที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อน อีก block หนึ่งที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหมือนกัน มีสองบริษัทที่ยื่นซอง

นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ที่มีผู้ให้ความสนใจน้อยมากเช่นนี้ เกี่ยวโยงกับความขัดแย้งเรื่องเจ้าของพื้นที่

นาย Ian Storey นักวิเคราะห์ที่ Institute of Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความตึงเครียดเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว หมายความว่า ผู้ใดก็ตามที่ยื่นประมูลเพื่อเข้าไปขุดเจาะหาน้ำมันในบริเวณที่มีความขัดแย้งกัน มีนั้นโอกาสที่จะถูกจีนก่อกวน

นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวแสดงความคาดหมายว่า ผู้ที่ยื่นซองประมูลสำหรับพื้นที่ดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นบริษัทน้ำมันใหญ่ ในกรณีนั้น จีนก็จะสามารถใช้มาตรการข่มขู่ได้มากขึ้น

แต่ปลัดกระทรวงพลังงานของฟิลิปปินส์ นาย Jay Layug ยืนยันว่าพื้นที่ที่นำออกขายนั้น อยู่ในเขตเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ หรือ พื้นที่ในทะเลห่างจากชายฝั่งของประเทศออกไป 370 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่จีนกล่าวอ้างสิทธิ์ด้วย โดยอาศัยแผนที่โบราณเป็นหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ผู้นี้ยอมรับว่า block พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดการประจันหน้ากับจีนเมื่อไม่นานมานี้ แต่บอกไว้ด้วยว่า ทางกระทรวงพลังงานจะสอดส่องดูแลให้เป็นที่แน่ใจว่า การดำเนินงานของผู้รับเหมาประสานกับหน่วยงานรักษาชายฝั่งและกระทรวงกลาโหมของประเทศ

ขณะเดียวกัน นาย Kang Wu ที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านตลาดจีนของ FACTS Global Energy ซึ่งคาดประมาณความต้องการน้ำมันในโลก เห็นด้วยว่า ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เป็นอุปสรรคสำคัญจริง แต่ในขณะที่ความเสี่ยงสูง ผลประโยชน์ที่จะได้ก็สูงมากด้วย และมีบริษัทเล็กๆมากมายที่กล้าเสี่ยง เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท และวิธีวิเคราะห์ความเสี่ยงของแต่ละคน

นาย Ian Storey นักวิเคราะห์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาที่สิงคโปร์ บอกส่งท้ายว่าแต่ละประเทศที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ยืนกรานคำกล่าวอ้างของตน ซึ่งทำให้ยุ่งยากมากขึ้นไปอีก และมองไม่เห็นว่าจะกู้สภาพการณ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร


XS
SM
MD
LG