ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยสรุปว่าสภาวะโลกร้อนในอดีตอาจเป็นสาเหตุการล่มของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ


อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุคโบราณ มีประชากรคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกทั้งหมดในสมัยนั้น มีขอบเขตกินพื้นที่กว้างขวางถึงหนึ่งล้านตารางกิโลเมตร

ผู้คนในเขตอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุแตกต่างจากชาวอียิปต์กับชาวเมโสโปเตเมีย ตรงที่ไม่นิยมก่อสร้างวัดวาขนาดใหญ่หรือปิรามิด ชาวสินธุฝักใฝ่ในเรื่องการเกษตรกรรมและการค้ามากกว่าอย่างอื่น

Liviu Giosan ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทะเลวิทยาวู้ดส์ โฮล์ (Woods Hole Oceanographic Institution) ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ชาวสินธุเพาะปลูกทั่วบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ มีการพัฒนาเครือข่ายถนนที่เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง มีการเดินเรือเชื่อมกับชาวเมโสโปเตเมีย มีการสร้างเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง มีการวางผังอย่างมีระเบียบ มีกำแพงเมืองและป้อมปราการเพื่อกันผู้รุกราน มีระบบสุขภิบาลที่เจริญกว่าอารยธรรมอื่นก่อนหน้าสมัยโรมัน

นักโบราณคดี ขุดค้นพบ ซากโบราณสถานต่างๆของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุหรือที่เรียกว่า อารยธรรมยุคฮารัปปัน ประมาณเก้าสิบกว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่นั้นมา มีการศึกษาค้นคว้ามากมายต่างบรรยายถึงลักษณะสำคัญด้านวัฒนธรรมต่างๆของชาวสินธุ ตลอดจนจารึกจำนวนมากที่ยังไม่มีใครอ่านออก

ในการศึกษาของทีมวิจัยของ Liviu Giosan ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทะเลวิทยาวู้ดส์ โฮล์ ทีมวิจัยได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมกับข้อมูลจากแผนที่กราฟฟิกที่มีรายละเอียดที่ตั้ง สถานที่ ถนนและสิ่งแวดล้อม ในการจำลองภูมิประเทศของแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อราว 5,200 ปีที่แล้ว เป็นจุดที่มีการสร้างเมืองต่างๆ ก่อนจะค่อยๆล่มสลายในช่วงราว 3,900 – 3,000 ปีที่แล้ว

Liviu Giosan นักวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงวอชิงตันว่า ทีมงานได้ขุดลึกลงไปใต้ดินเพื่อนำตัวอย่างซากตะกอนที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชและซากชีิวิต เพื่อศึกษาการตกตะกอน ว่า เกิดขึ้นใกล้ริมแม่น้ำ หรือเกิดจากลม และหาอายุของการตกตะกอน

ในการศึกษา ทีมงานสามารถสร้างแผนที่ดิจิตอลได้หลายแผนที่ แผนที่ดิจิตอลที่ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรกรรมและการตั้งถิ่นฐาน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นักวิจัยพบเป็นครั้งแรกว่ามีกองตะกอนที่เกิดจากตะกอนในแม่น้ำ ทับถมกันเป็นกองพูนสูงสิบถึงยี่สิบเมตร กว้างราวหนึ่งร้อยกิโลเมตรเมตรและยาวเกือบหนึ่งพันกิโลเมตรเรียบตามริมแม่น้ำสินธุ

จากการศึกษา พบว่า ปริมาณฝนที่ตกชุกให้การเกษตรกรรมและการค้าของชาวสินธุรุ่งเรือง แต่เมื่อฝนตกน้อยลง ชาวสินธุโยกย้าบถิ่นฐานไปยังที่ใหม่ในทางตะวันออกเพราะไม่มีระบบการชลประทาน ถิ่นฐานใหม่ของชาวสินธุเล็กลงกว่าเดิมและพึ่งพาน้ำฝนและลำธารเป็นหลักในการเกษตร Liviu Giosan ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าชาวสินธุยังคงดำเนินชีวิตอยู่ต่ออีกหนึ่งพันปีหลังจากนั้น ก่อนจะล่มสลายไปในที่สุด

แม่น้ำสินธุเป็นแหล่งการชลประทานขนาดใหญ่ที่สุดของโลก แต่ระบบชลประทานนี้จะทำงานได้ปกติขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศที่คงที่ ไม่ผกผันมากนัก

นักวิจัยกล่าวว่า ในสภาวะอากาศที่ผันผวนอย่างปัจจุบัน โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนกับที่เกิดในปากีสถานเมื่อสองปีที่แล้ว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและจะส่งผลให้ชีวิตคนหลายล้านคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยเพราะระบบการชลประทาน เขื่อนและฝายน้ำไม่เพียงพอ พวกเขาบอกว่าผลการศึกษาเรื่องการล่มสลายของอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุจากสภาวะอากาศโลกนี้เป็นข้อเตือนใจแก่ประเทศอุตสาหกรรมใ้ห้เร่งมือลดปัญหาโลกร้อนก่อนจะสายเกินแก้
XS
SM
MD
LG