ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เทคโนโลยีข้อมูลลายนิ้วมือช่วยปรับปรุงงานต่อต้านวัณโรคดื้อยาในอินเดีย


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินเดียกำลังสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการระบาดของวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยาในขณะที่มีหน่วยงานพัฒนาเอกชนหน่วยงานหนึ่งในอินเดียใช้เทคโนโลยีข้อมูลลายนิ้วมือในงานต่อต้านวัณโรค

คุณวิษณุ มายา เป็นชาวกรุงนิวเดลลี รู้สึกตัวว่าเริ่มมีอาการดีขึ้นหลังจากเข้ารับการบำบัดวัณโรคได้ไม่กี่สัปดาห์

คุณมายาเข้ารับการรักษาวัณโรคด้วยยาที่อนามัยชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของคุณนีมา เมทฐา เจ้าหน้าที่บำบัดแห่งหน่วยงานพัฒนาเอกชนของอินเดีย Operation Asha คุณเมทฐา ประสบความยากลำบากในการจูงใจให้ผู้ป่วยวัณโรครับประทานยาจนครบตามระยะเวลาการรักษา

เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าผู้ป่วยมักวิตกกังวลเมื่อรู้ว่าต้องรับประทานยาเป็นเวลานานถึงหกเดือน เจ้าหน้าที่ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องจำเป็นและไม่ควรกังวล ควรมารับยาให้ตรงตามเวลากำหนดและใช้ยาตามข้อแนะนำเคร่งครัด แล้วอาการจะดีขึ้น

การชักจูงใจให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ครบตามกำหนดมีความสำคัญมาก การเลิกรับประทานยาบำบัดวัณโรคกลางคันมีผลให้เชื้อวัณโรคกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาแบบรุนแรงที่เรียกว่า MDR-TB และจะส่งผลให้ยาปฏิชีวนะมาตราฐานที่ใช้รักษาไม่ได้ผล การบำบัดจะทำได้ยากมากขึ้นและแพงขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยาแบบ MDR-TB แล้วราวหนึ่งแสนคนในอินเดีย แต่ด็อกเตอร์เชลลี่ บัตรา ผู้ก่อตั้งหน่วยงาน Operation Asha เกรงว่าตัวเลขจริงๆน่าจะสูงกว่าที่ประมาณไว้เพราะยังมีผู้ป่วยอีกหลายพันคนที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย

ด็อกเตอร์บัตรากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยาแบบ MDR-TB มีศักยภาพที่จะกลายเป็นโรคระบาดรุนแรง คร่าชีวิตคนหลายล้านคน เธอกล่าวว่าหากไม่รีบป้องกันการลุกลามของปัญหาหรือยังไม่ยอมรับความจริงว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น อินเดียก็จะประสบกับปัญหาสาธารณสุขใหญ่หลวง

ด็อกเตอร์บัตราผู้ก่อตั้งหน่วยงาน Operation Asha ใช้เทคโนโลยีข้อมูลส่วนตัวประเภทไบโอเมตริกในการติดตามการบำบัดผู้ป่วยวัณโรคเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยเข้ารับยาอย่างต่อเนื่องจนครบตามกำหนด

หน่วยงาน Operation Asha มีศูนย์อยู่เกือบทุกมุมเมือง ทางศูนย์ทุกแห่งบันทึกข้อมูลลายนิ้วมือของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ดูแลการบำบัดเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการรักษาแต่ละครั้งที่กำหนดไว้ หากผู้ป่วยไม่ไปรับยาตามกำหนด ทางศูนย์จะส่งข้อความไปเตือนและทำการติดตามหาตัวผู้ป่วย

ด็อกเตอร์บัตรากล่าวว่าระบบเฝ้าติดตามการรักษาแบบนี้ได้ผลช่วยลดปัญหาผู้ป่วยไม่ไปรับยารักษาวัณโรคตามกำหนดและป้องกันปัญหาโรคดื้อยาที่จะตามมา

ด็อกเตอร์บัตรากล่าวว่าการติดตามการรักษาของหน่วยงานช่วยลดอัตราการรักษาตัวไม่ครบกำหนดลงมาอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนระบบลายนิ้วมือช่วยลดปัญหานี้ลงได้อีก โดยอยู่ในอัตรา 1.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นการช่วยประหยัดการสูญเสียค่ายาโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากวัณโรคดื้อยา MDR-TB จะสร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของทั้งตัวผู้ป่วยและของประเทศด้วย

หน่วยงาน Operation Asha มีศูนย์บำบัดวัณโรคในหมู่บ้านและสลัม 3,000 พันแห่งในอินเดียและกัมพูชา ทางหน่วยงานหวังว่าความพยายามในระดับรากหญ้าที่หนุนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้จะช่วยลดปัญหาการกลายพันธุ์ของวัณโรคที่มีสาเหตุจากผู้ป่วยรักษาตัวไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด
XS
SM
MD
LG