ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วงการแพทย์พยายามศึกษาว่าวิธีถ่ายเลือดของผู้รอดชีวิตจากอีโบล่าให้กับผู้ป่วย จะใช้รักษาโรคอีโบล่าอย่างได้ผลหรือไม่?


please wait

No media source currently available

0:00 0:03:19 0:00
Direct link

แม้ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคอีโบล่า แต่ผู้ติดเชื้อหลายคนในสหรัฐใช้วิธีรับเลือดบริจาคจากผู้รอดชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบล่า คำถามคือการถ่ายเลือดของผู้รอดชีวิตให้กับผู้ติดเชื้ออีโบล่าสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางรักษาโรคอีโบล่าในวงกว้างได้หรือไม่

ดร.Kent Brantly คือชาวอเมริกันคนแรกที่ติดเชื้ออีโบล่ามาจากผู้ป่วยในไลบีเรีย และได้รับการถ่ายเลือดจากเด็กชายชาวแอฟริกันผู้หนึ่งผู้รอดชีวิตจากโรคอีโบล่า ซึ่งเชื่อว่าทำให้เขาหายจากโรคระบาดชนิดนี้

เวลานี้วงการแพทย์กำลังพยายามทดลองว่า วิธีการถ่ายเลือดสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางรักษาโรคอีโบล่าอย่างจริงจังได้หรือไม่ โดยแพทย์เชื่อว่าผู้รอดชีวิตมีระดับสารภูมิต้านทานหรือ Antibody ในเลือดเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง ซึ่งสามารถช่วยต่อสู้กับเชื้ออีโบล่าได้

จนถึงขณะนี้ ดร.Kent Brantly บริจาคเลือดให้กับผู้ติดเชื้ออีโบล่าในสหรัฐไปแล้ว 3 คน ส่วนชายชาวไลบีเรีย Thomas Eric Duncan ผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบล่าคนเดียวในสหรัฐนั้น ไม่สามารถรับเลือดบริจาคจากนายแพทย์ Brantly ได้ เนื่องจากหมู่เลือดไม่ตรงกัน

ดร.Jesse Goodman แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Georgetown ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่าวงการแพทย์ยังต้องมีการศึกษามากขึ้นว่าวิธีการถ่ายเลือดนี้ได้ผลจริงหรือไม่ในการรักษาโรคอีโบล่า ดร.Goodman ระบุว่า เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าการถ่ายเลือดจากผู้ที่หายจากโรคอีโบล่ามาให้กับผู้ติดเชื้อนั้นได้ผลจริงหรือไม่ เพราะการที่มีผู้ป่วยบางคนหายจากโรคนี้หลังจากเข้ารับการถ่ายเลือด ไม่ได้หมายความว่าวิธีนี้ได้ผล 100%

ดร.Goodman ชี้ว่ากระบวนการถ่ายเลือดอาจเพียงแค่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อรอดชีวิต แต่การดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยตลอดเวลาก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาทดลองเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่า ปัจจัยใดกันแน่ที่มีผลต่อการรอดชีวิตจริงๆ

ดร.Jesse Goodman แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Georgetown ยังบอกด้วยว่า ประเด็นหลักอีกอย่างหนึ่งคือ หากแพทย์ค้นพบว่าเลือดของผู้รอดชีวิตคือกุญแจสำคัญในการรักษาโรคอีโบล่าจริงๆ เลือดของนายแพทย์ Kent Brantly และของผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ควรถูกนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ดร.Goodman ระบุว่า ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ เราจึงควรเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว นั่นหมายความว่าไม่มีใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งควรครอบครองเลือดของผู้รอดชีวิตจากเชื้ออีโบล่าไว้เอง ไม่ควรมีการจดสิทธิบัตร ไม่ควรมีการแสวงหาผลกำไรจากเลือดนั้น และไม่ควรมีความลังเล เพราะถือเป็นความถูกต้องและเป็นสิทธิ์ของทุกคน

รายงานจาก Katherine Gypson ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG