ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็นชี้ว่าเอเชียประสบปัญหาการลักลอบค้าแอมเฟตามีนมากขึ้น


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:28 0:00
Direct link


สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติชี้ว่าเอเชียประสบกับการลักลอบค้าและเสพติดยาเสพติดสังเคราะห์ประเภทกระตุ้นประสาทเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีแหล่งสารตั้งต้นอยู่ในหลายประเทศในภูมิภาค และการค้าขายยาเสพติดในเอเชียยังดำเนินการผ่านทางอินเตอร์เน็ทอีกด้วย

รายงานจากสำนักงานป้องกันยาเสพติดเเละปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ชี้ว่ามีการผลิตยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตตามีนซึ่งรวมทั้งเมทแอมเฟตามีนและยาไอซ์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและจากจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดประเภทนี้ทั้งหมดทั่วโลก ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชีย

นาย Tun Nay Soe เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการแห่งสำนักงาน UNODC ประจำเอเชียตะวันออกกล่าวว่าการเสพติดยาเสพติดยาเมทเเอมเฟตามีนกลายเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคนี้

นาย Tun Nay Soe แห่งสำนักงาน UNODC กล่าวว่ายาบ้าเป็นปัญหาใหญ่โดยมีปริมาณยามากขึ้นอย่างมากตั้งเเต่ปีคริสตศักราช 2008 ซึ่งเคยยึดได้ 32-33 ล้านเม็ด เเต่ในอีก 4 ปีต่อมา คือ ในปีคริสตศักราช 2012 เจ้าหน้าที่ยึดยาบ้าได้เกือบ 230 ล้านเม็ด เขากล่าวว่าเเม้ว่าตัวเลขล่าสุดกำลังจัดเก็บอยู่ ดูๆ เเล้วจำนวนยาบ้าที่ยึดได้ก็คงไม่น้อยว่าตัวเลขที่ได้ในปีคริสตศักราช 2012

นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนผู้ใช้ยาไอซ์เพิ่มมากขึ้นอย่างมากจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในลาว กัมพูชา ไทยและเวียดนาม มีการยึดยาไอซ์ในภูมิภาคได้ืทั้งหมดถึงปีละ 11.6 ตัน

สารเคมีหลักๆ ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ประเภทกระตุ้นประสาทเหล่านี้มาจากหลายประเภทในทวีปเอเชีย นำโดยเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย จีนและอินเดีย เป็นการนำสารเคมีที่ถูกต้องตามกฏหมายไปใช้ในการผลิตสารเสพติดสังเคราะห์

สำนักงาน UNODC รายงานว่ามีคนราว 243 ล้านคนทั่วโลกอายุตั้งเเต่ 15-64 ปี ใช้ยาเสพติดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา นับเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกทั้งหมด มีคนราว 200,000 คนเสียชีวิตทุกปี

อัฟกานิสถานยังครองตำแหน่งผู้ปลูกฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก ฝิ่นเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฮโรอีน อัฟกานิสถานเพิ่มพื้นที่ปลูกฝิ่นขึ้นไปอีกราว 36เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้วโดยมีพื้นที่ปลูกทั้งหมดประมาณ 154,000 เฮคเเตร์ ได้ผลผลิตฝิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 5,500 ตันต่อปี นับเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตฝิ่นทั่วโลก

ประเทศพม่าถือเป็นผู้ปลูกฝิ่นรายใหญ่อันดับสองของโลก มีพื้นที่ปลูกฝิ่นประมาณ 57,800 เฮคเเตร์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือของรัฐฉาน

นาย Tun Nay Soe เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการแห่งสำนักงาน UNODC ประจำเอเชียตะวันออก กล่าวว่า ความยากจนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวบ้านในรัฐฉานของพม่าปลูกฝื่น

นาย Tun Nay Soe กล่าวว่าหมู่บ้านปลูกฝิ่นในรัฐฉานอยู่ในชนบทห่างไกล ขาดเเคลนถนนหนทาง ชาวบ้านไม่สามารถขนส่งพืชผลทางการเกษตรไปขายในที่อื่นได้ เเต่หากปลูกฝิ่น ชาวบ้านไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งเพราะผู้ลักลอบค้าฝิ่นจะเข้าไปซื้อฝิ่นถึงในหมู่บ้าน เขากล่าวว่าการปลูกฝิ่นในพม่าจะยังคงอยู่ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนในรัฐฉานได้

สำนักงาน UNODC รายงานว่าเฮโรอีนยังเป็นปัญหายาเสพติดที่สำคัญในหลายๆ ประเทศทั่วเอเชีย รวมทั้ง จีน มาเลเซีย พม่าและเวียดนาม

นอกจากนี้นาย Tun Nay Soe ยังกล่าวว่าปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการผลิตและการลักลอบค้าสารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาทชนิดใหม่ๆ ที่ค้าขายผ่านทางออนไลน์และยังไม่มีกฏหมายควบคุมยาเสพติดชนิดใหม่ๆ เหล่านี้และยังมีความรู้กันน้อยมากถึงผลกระทบต่อชุมชน

การค้าขายยาเสพติดผ่านทางอินเตอร์เน็ทสร้างความยากลำบากเเก่เจ้าหน้าที่ในการระบุว่าใครเป็นเจ้าของหน้าเว็ปไซท์หรือใครเป็นผู้ใช้เว็ปไซท์ เจ้าหน้าที่ทางการประเทศต่างๆ ระบุว่ามูลค่าการลักลอบค้ายาเสพติดผ่านทางอินเตอร์เน็ทมีมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

เจ้าหน้าที่แห่งสหประชาชาติชี้ว่าการลักลอบค้ายาเสพติดยังขยายตัวอยู่ตลอดเวลา การบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายรวมทั้งปัญหาการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีส่วนให้ปัญหานี้เลวร้ายมากขึ้น

XS
SM
MD
LG