ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การแข่งขันทางธุรกิจในเอเชียทำให้มูลค่าเงินใต้โต๊ะสูงขึ้นและการคอรัปชั่นขยายวงกว้าง


นักธุรกิจชาวไทยผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยโอดครวญว่า ทุกวันนี้ตนต้องจ่ายใต้โต๊ะแพงเหลือเกิน จากเมื่อก่อนตกประมาณ 5-10% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 30% และเมื่อเร็วๆนี้ รายงานวิจัยของ ม.หอการค้าไทยคาดการณ์ว่า ศก.ไทยจะสูญเสียเงินไปกับการคอรัปชั่นในปีนี้ราว 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านดอลล่าร์หรือ 330,000 ล้านบาท

รายงานชิ้นนี้ยังบอกด้วยว่าเวลานี้บริษัทเอกชนที่ต้องการได้สัญญารับเหมาโครงการของรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสินบนแพงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการที่อัตราค่าสินบนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะการแข่งขันทางธุรกิจในระดับท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้สัญญารับเหมาจากรัฐบาลนั้นสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่าปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังถูกสั่นคลอนด้วยปัญหาคอรัปชั่นในวงกว้าง ทั้งจากโครงการจัดการน้ำหลังอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ 2554 โครงการรับจำนำข้าว ตลอดจนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายแห่ง

ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเวลานี้เป็นกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ระบุว่าดูเหมือนปัญหาคอรัปชั่นของไทยในปัจจุบันจะรุนแรงกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัญหาคอรัปชั่นยังเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในเอเชียที่ศก.กำลังเติบโต

รายงานล่าสุดของ Center for International Policy ในสหรัฐชี้ว่าระหว่างปี พ.ศ 2544 – 2553 มีเงินรั่วไหลออกนอกระบบศก.จีนไปกับการกระทำที่เข้าข่ายคอรัปชั่น หลีกเลี่ยงภาษีหรืออาชญากรรมทางการเงินอื่นๆราว 2,740,000 ล้านดอลล่าร์ ส่วนศก.ของอินเดียมีเงินรั่วไหลราว 123,000 ล้านดอลล่าร์ และของไทยตกประมาณ 64,000 ล้านดอลล่าร์หรือเกือบ 20 ล้านล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปีดังกล่าว

คุณ Shervin Majlessi ที่ปรึกษาของสำนักงานต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติหรือ UNODC ชี้ว่า ปัญหาการคอรัปชั่นในเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้นเพราะศก.เอเชียกำลังเติบโต โดยเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศมากขึ้นและมูลค่าสัญญาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาคอรัปชั่นขยายวงกว้างออกไป จึงจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมหรือต่อต้านการคอรัปชั่นที่เข้มแข็งขึ้นด้วยเช่นกัน

ดร.บัณฑิต นิจถาวร ซึ่งเวลานี้ทำหน้าที่ดูแลกลุ่มบริษัทเอกชนต่างๆเพื่อต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่น กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนคือสิ่งสำคัญในการจัดการกับปัญหานี้ โดยบอกว่าการจะแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้นั้น ต้องมองไปทั้งส่วนของผู้ที่ให้และรับสินบน การควบคุมหรือรณรงค์ในส่วนของบริษัทเอกชนซึ่งถือว่าอยู่ในส่วนของผู้ให้สินบนจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ตนเชื่อว่าอาจจะช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่นได้เช่นกัน
XS
SM
MD
LG